วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

พระพุทธยอดฟ้ามหาราช (ตอนที่ ๙)





        นอกจากพระราชกรณียกิจดังกล่าวแล้ว  ยังมีพระราชกรณียกิจสำคัญในรัชกาลของพระองค์ คือ 

      โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์  โดยตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีใหม่ ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา  เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๓๒๕

       โปรดเกล้าฯ ให้ยกเสาหลักพระนครใหม่ ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน  พ.ศ.๒๓๒๕ เดือนหก ขึ้น ๑๐ ค่ำ

       โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวังเป็นที่ประทับ และเป็นศูนย์บริหารราชการแผ่นดิน  ชื่อพระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท 

       โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีปราบดาภิเษกเมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๓๒๕  ตรงกับวันจันทร์ เดือน ๘ ขึ้น ๑ ค่ำ เมื่อพระชนมายุ ๔๖ พรรษา

       โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก  และจัดการสมโภชพระนคร  เมื่อเสร็จสิ้นการฉลองพระนครแล้ว  จึงทรงพระราชทานนามพระนครใหม่ว่า   "กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตาลสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประดิษฐ์" (ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ ทรงแปลงสร้อยพระนามพระนครเป็น อมรรัตนโกสินทร์)  

        โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ในพระบรมมหาราชวัง  เป็นที่สถิตของพระพุทธมหามณีรัตนปฎิมากร (พระแก้วมรกต)  

       โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระแก้วมรกตจากหอแก้ว ในพระราชวังเดิมเข้ามาประดิษฐาน ณ. พระอุโบสถในพระราชวังใหม่  พระราชทานนามพระอารามว่า  วัดพระศรีรัตนศาสดาราม  เมื่อวันจันทร์เดือน ๔ แรม ๔ ค่ำ ปีมะโรง  พ.ศ.๒๓๒๗   รัชกาลที่ ๑ ทรงพระราชดำริสร้างเครื่องทรงถวายสำหรับฤดูร้อนอย่างหนึ่ง  ฤดูฝนอย่างหนึ่ง เปลี่ยนทรงตามฤดูกาล   ครั้นรัชกาลที่ ๓ ทรงพระราชดำริสร้างเครื่องทรงฤดูหนาวอีกอย่างหนึ่ง  จึงเปลี่ยนแปลงมาเป็น  ๓ อย่างตามฤดูกาล

       โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระเทพบิดร คือพระรูปสมเด็จพระรามาธิบดี(อู่ทอง) ซึ่งเป็นปฐมวงศ์สร้างกรุงศรีอยุธยา  มาแปลงเป็นพระพุทธรูปหุ้มเงินปิดทองประดิษฐานไว้ในพระบรมมหาราชวัง   พระวิหารน้ันพระราชทานนามว่า หอพระเทพบิดร
       พ.ศ.๒๓๓๒ เกิดอสุนีบาตต้องที่หน้ามุขเด็จ  เพลิงลุกลามไหม้พระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาทเสียหายเกือบท้ังองค์   จึงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อลงแล้วสร้างพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทขึ้นแทน

       โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดและปฎิสังขรณ์วัดหลายแห่ง เช่น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม(วัดโพธิ์),  วัดระฆังโฆสิตาราม, วัดราชสิทธาราม, วัดยานนาวา, วัดอรุณราชวราราม, วัดสุวรรณาราม, วัดมหาธาตุ, วัดสระเกศ, วัดราชบูรณะ, วัดคูหาสวรรค์, วัดราชาธิวาสวิหาร(วัดสมอราย), วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร, วัดกฎีดาว จังหวัดอยุธยา, วัดสุวรรดาราม จังหวัดอยุธยา และเริ่มสร้างวัดสุทัศน์เทพวราราม  แต่ยังไม่ทันสำเร็จในรัชกาลที่ ๑ 

       โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญหลายองค์ ที่ถูกทอดทิ้งอยู่ตามหัวเมืองมาประดิษฐานอยู่ในกรุงเทพฯ  เช่น พระโต และพระศรีศากยมุนี  จากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองสุโขทัยมาประดิษฐานที่วัดสุทัศน์ฯ  อัญเชิญพระเทวโลกนาถจากวัดพระศรีสรรเพ็ชญ  กรุงศรีอยุธยามาประดิษฐานที่วัดพระเชตุพนฯ 

        โปรดเกล้าฯ ให้แบ่งหัวเมืองปักษ์ใต้ ฝ่ายตะวันตกซึ่งขึ้นกรมท่า ๑๙ เมือง มหาดไทย ๑ เมือง  มาขึ้นกับกรมพระกลาโหม  คือ เมืองสงขลา, พัทลุง, ปะทิว, คลองวาน, กุย, ปราณ, ตะนาวศรี, มะริด, กระ, ตะกั่วป่า,ตะกั่วทุุ่ง, พัทลุง, ถลาง, กาญจนบุรี, ไทรโยค, เพชรบุรี,  และยังคงขึ้นกับกรมท่า ๘ เมือง  คือเมืองนนทบุรี, สมุทรปราการ, สาครบุรี, ชลบุรี, บางละมุง,ระยอง, จันทบุรี,ตราด,  และยกเอาเมืองสมุทรสงคราม ซึ่งขึ้นกับกรมมหาดไทยเดิมให้ขึ้นกับกรมท่า รวมเป็น ๙ เมือง 

        โปรดเกล้าฯ ให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตชำระกฎหมายที่อยู่ในหอหลวงท้ังหมดที่ตกทอดมาแต่กรุงศรีอยุธยา แล้วจัดเป็นหมวดหมู่  เมื่อจัดเป็นหมวดหมู่แล้วเขียนไว้เป็น ๓ ชุด  เก็บไว้ในห้องเครื่อง หอหลวง  และศาลหลวงประทับตราราชสีห์  คชสีห์ และบัวแก้ว ทุกเล่ม เรียกว่า "กฎหมายตราสามดวง" 

        โปรดเกล้า ฯ ให้สังคายนาพระไตรปิฎกแล้วจารึกพระไตรปิฎกที่ชำระแล้วลงบนใบลานใหญ่ ปกปิดทองทึบท้ังหน้าและกรอบ  พระไตรปิฎกนี้เรียกว่า "พระไตรปิฎกฉบับทอง"  เก็บไว้ในหอพระมณเฑียรธรรม"  ในวัดพระแก้ว ต่อมาเกิดเพลิงไหม้หอพระมณเฑียรธรรมแต่ไม่ทันได้ไหม้พระไตรปิฎก จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระมณฑปเป็นทีเก็บพระไตรปิฎกแทน 

        โปรดเกล้าฯ ให้ชำระกฎหมายพระสงฆ์  เพื่อให้สมณสงฆ์ปฎิบัติถูกต้องตามแก่สมณเพศ  เป็นที่เคารพศรัทธาของคนทั่วไป และกำหนดข้อปฎิบัตสำหรับราษฎรในการบำเพ็ญตน ในเรื่องที่เกี่ยวกับพระสงฆ์

        ทรงฟื้นฟูและวางรากฐานประเพณีและพระราชพิธีต่างๆ  เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก  พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา พระราชพิธีโสกันต์

        โปรดเกล้าฯ ให้ส่งเสริม สร้างสรรค์วรรณคดี บางเรื่องทรงพระราชนิพนธ์เอง เช่น  รามเกียรติ์  อิเหนา อุณรุท  นิราศท่าดินแดง 

        โปรดเกล้าฯ ให้จัดทำหนังสือพงศาวดารขึ้น  โดยโปรดฯให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตชำระพระราชพงศาวดารของไทย  ซึ่งเรียกกันว่า "พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ" 

        โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ สำหรับเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคแบบอย่างโบราณราชประเพณี 


(โปรดติดตามตอนต่อไป) 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น