วันจันทร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2558

พระพุทธยอดฟ้ามหาราช (ตอนที่ ๒)




         แรกเริ่มเดิมที่สมิงพระรามเชื้อชาติมอญ  พระสหายของพระนเรศวรมหาราช  ได้อพยพติดตามพระนเรศวรมหาราช เข้ามารับราชการอยู่ในกรุงศรีอยุธยาในตอนปลายรัชกาลของพระมหาธรรมราชา  ประมาณพ.ศ. ๒๑๒๐  สมิงพระรามนี้ต่อมาคือ พระยาเกียรติพระราม  พระยาเกียรติพระรามผู้นี้  พระราชพงศาวดารมักจะเขียนว่า "พระยาเกียรติพระยาราม" ทำให้เข้าใจผิดกันมาตลอดว่าเป็นคนสองคน  พระยาเกียรติคนหนึ่ง  พระยารามคนหนึ่ง   แท้ที่จริงเป็นคนคนเดียวกัน  บรรดาศักดิ์ว่า "พระยาเกียรติพระราม"  นั้น เป็นยศศักดิ์โบราณ  ถ้าจะเรียกให้ถูกต้องก็ต้องเรียกว่า "พระยาเกียรติพระราม" แปลว่า ่"พระยาผู้มีเกียรติดั่งพระราม"  หรือ  "พระรามผู้มีเกียรติ"  เหมือนที่เราเรียกวรรรคดีเรื่องพระรามปราบยักษ์ว่า "รามเกียรติ์" ซึ่งแปลว่า "เกียรติแห่งพระราม"  เป็นราชทินนามบรรดาศักดิ์พิเศษที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชพระราชทานให้แก่นายทหารมอญผู้จงรักภักดีอย่างมอบกายถวายชีวิตผู้นี้   และนามบรรดาศักดิ์นี้เป็นนามบรรดาศักดิ์ของไทยไม่ใช่นามบรรดาศักดิ์ของทหารมอญ
        
        เมื่อท่านมารับราชการเป็นพระยาพานทองของไทยแล้วท่านได้รับพระราชทานนามบรรดาศักดิ์ว่า ่"พระยาเกียรติพระราม"  แล้วก็ไม่มีผู้ใดได้รับพระราชทานนามนี้อีกเลย   ตัวอย่างในรัชกาลที่ ๕  นี้ก็มีอยู่  คือ พระปิยมหาราชทรงมีข้าหลวงเดิมอยู่คนหนึ่งชื่อนายเปล่ง  เป็นที่โปรดปราน  วันหนึ่งจึงทรงถามว่า "ตาเปล่ง  แกอยากเป็นอะไร"  นายเปล่งตอบทันทีว่า  "อยากเป็นพระยา พระพุทธเจ้าข้า"  พระปิยมหาราชก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น "ขุนหลวงพระยาไกรสีห์"  คือ ท่านผู้นี้ยังไม่ทันเป็นขุนเลยจะขอเป็นพระยา  แต่เมื่อตรัสถามว่าอยากได้เป็นอะไร  เขาอยากเป็นพระยาก็ทรงตั้งให้เขาเป็นทันตาเห็น  ก็เลยไม่รู้ว่าท่านผู้นี้เป็นขุนหรือพระยากันแน่    แต่คำพระราชทานยศอย่างนี้ถือกันว่าเป็นยศพิเศษ ถ้าจะว่าไปแล้วก็เทียบเท่า "ขุนหลวงพะงั่ว" "ขุนหลวงดอกมะเดื่อ" "ขุนหลวงพระยาตาก"  ทีเดียว  ก็เหมือนนามบรรดาศักดิ์ "พระยาเกียรติพระราม" นั่นแหละ เป็นบรรดาศักดิ์พิเศษที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชพระราชทานให้แก่นายทหารมอญคนนี้  ผู้ซึ่งมีความจงรักภักดียอมมอบกายถวายชีวิตติดตามพระองค์เข้ามารับราชการอยู่ด้วย  พระยาเกียรติพระรามนี้รู้จักคุ้นเคยและจงรักภักดีต่อพระนเรศวรมหาราชมาตั้งแต่พระองค์อยู่ในประเทศพม่า  เมื่อได้โอกาสจึงติดตามเข้ามารับราชการเป็นนายทหารกล้าตายของพระนเรศวรมหาราช  เข้าใจว่าจะมีจิตใจเด็ดเดี่ยวกล้าหาญชาญชัยพอๆกับหรือแบบเดียวกันกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  คนที่มีอุปนิสัยจิตใจคล้ายคลึงกันจึงจะรักใคร่นับถือกันมาก  

     เมื่อได้ติดตามเข้ามารับราชการเมืองไทยแล้ว  ก็ได้รับพระราชทานภรรยาคนหนึ่งคือ หม่อมเจ้าหญิงอำไพ  พระธิดาพระมหาธรรมราชา คือเป็นพระพี่นางของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั่นเอง  การที่พระราชทานเจ้าหญิงให้เป็นภรรยาเช่นนี้ก็แสดงว่าโปรดเกล้าฯรับเข้ามาเป็นเขยในราชวงศ์  หรือรับเอาเข้ามาเป็นวงศ์ญาตินั่นเอง  เรียกว่า พระยาเกียรติพระรามผู้นี้ได้เข้ามาเป็นพระญาติวงศ์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชแล้วในตอนนี้ 
     พระยาเกียรติพระรามกับหม่อมเจ้าหญิงอำไพ มีบุตรเป็นชายสองคน ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในเวลาต่อมา  คนพี่ชื่อเหล็ก  ได้เป็นเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ขุนเหล็ก)  คนน้องชื่อทองปาน ได้เป็น เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ทองปาน)  แทนพี่ชายในเวลาต่อมา  เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก)  เป็นทหารชั้นแม่ทัพ  ไปรบเมืองทวายแล้วไปตายในราชการสงคราม  น้องชายที่ชื่อทองปาน ก็ได้รับช่วงตำแหน่งต่อมาเป็นเจ้าพระยาโกษาธิบดี(ทองปาน) ตำแหน่งนี้ในยามปกติก็ว่ากรมเจ้าท่า  บางทีก็ว่ากรมพระคลังมหาสมบัติในยามศึกสงครามก็เป็นแม่ทัพด้วย  แสดงว่าเป็นบุคคลสำคัญมากที่สุดที่คุมขุมกำลังท้้งการคลังและการทหาร แสดงถึงว่าเป็นเชื้อสายในราชวงศ์และมีความสามารถด้วย จึงได้คุมตำแหน่งสำคัญนี้ 

     เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ทองปาน) นั้นท่านเคยเป็นเอกอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มไปเจริญทางพระราชไมตรีกับประเทศฝรั่งเศส  ท่านเป็นราชทูตที่มีชื่อเสียงเกียรติยศมาก  ทางฝรั่งเศสก็ยกย่องถึงแก่ได้ให้จิตรกรเขียนรูปท่านไว้  จึงเป็นหลักฐานอันสำคัญมากว่าท่านมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร  รูปภาพเขียนของท่านนี้ ต่อมานายสุกิจ นิมมานเหมินทร์ ไปได้มาจากหอสมุดในประเทศฝรั่งเศส  ได้นำเอามาพิมพ์เผยแแพร่  เป็นการน่าประหลาดมากที่รูปเขียนของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ทองปาน) นี้ละม้ายแม้นกับพระบรมฉายาลักษณ์ของพระพุทธยอดฟ้าฯ มาก  เดี๋ยวท่านก็จะทราบเองว่าทำไมจึงคล้ายกัน  
(โปรดติดตามตอนต่อไป) 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น