วันจันทร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

พระพุทธยอดฟ้ามหาราช (ตอนที่ ๖)



       พระราชพงศาวดารจดไว้ว่า  เมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชทรงตั้งกรุงธนบุรีขึ้นแล้ว   พม่ายังไม่สิ้นความพยายามที่จะตีเอาไทยเป็นเมืองขึ้นให้จงได้  จึงเตรียมส่งกองทัพเข้าตีเมืองไทยใหม่  ได้ส่งกองทัพเข้ามาตั้งค่ายหาเสบียงอาหารที่เมืองกาญจนบุรี  แล้วส่งกองกำลังเข้ามาตระเวนปล้นหาเสบียงอาหารอยู่แถวเมืองราชบุรี   ยกกำลังเข้ามาจนถึงค่ายจีนบางกุ้ง  เมืองสมุทรสงคราม เข้าล้อมค่ายจีนบางกุ้งไว้   ทหารจีนต่อสู้จนเสบียงอาหารหมด  ค่ายจวนจะแตกอยู่แล้ว กรมการเมืองสมุทรสงครามจึงมีใบบอกไปทางกรุงธนบุรี  กรมการเมืองในที่นี้พงศาวดารไม่ได้บอกว่าเป็นใคร  ไม่ได้บอกว่าเป็นผู้ว่าราชการเมือง  เพราะขณะนั้นเจ้าเมืองสมุทรสงครามไม่มีตัว  ทางสมุทรสงครามมีแต่หลวงปลัดเมือง  คือ หลวงชลสินธุสงคราม (ศร ต้นตระกูล ณ  บางช้าง)  กับหลวงอร่ามเรืองฤทธิ์(ทองด้วง)  ยกกระบัตรเมืองเป็นกรมการเมืองอยู่  ทั้งสองท่านนี้เกี่ยวดองเป็นวงศ์ญาติกันทางภรรยา  กรมการเมืองที่มีใบบอกไปทางกรุงธนบุรีคงจะเป็นสองท่านคู่เขยนี่เอง หาใช่ใครอื่นไม่  พระเจ้าตากสินได้ทรงทราบข่าวศึก "ก็ทรงดีพระทัยดังได้ลาภทั้่งปวง"  พงศาวดารว่าไว้อย่างนี้  เพราะขณะน้ันคนไทยไม่มีขวัญ กลัวพม่าเหมือนยักษ์กลัวมารก็ปานกัน  ถึงแก่มีคำขู่เด็กขี้อ้อนร้องไห้โยเยว่า  "แน่ะ พม่ามาแล้ว"  เหมือนที่ขู่เด็กในเวลาต่อมาว่า  "เดี๋ยวตำรวจจับ"   หรือเหมือนลาวโข่งทางเหนือเวียงจันทร์ขู่ลูกหลานว่า  "บักโกย มาแล้ว" (บักโกย นี้คือทหารไทยหรือคนไทยที่ไปรบแล้วกวาดต้อนเอาลาวโข่งมาทางแถว นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี หลายหมื่นคน  คนลาวโข่งก็ขยาดทหารไทยเหมือนคนไทยกลัวพม่า)   ฉนั้นเมื่อพระเจ้าตากสินได้ข่าวศึกพม่ามาตีค่ายบางกุ้ง  จึงทรงดีพระทัยเหมือนได้แก้ว   เพราะทรงมีความปรารถนาที่จะตีพม่าให้ราบเรียบ   เพื่อปลุกใจคนไทยว่าไม่ต้องกลัวพม่า  พม่าไม่ใช่ยักษ์มารที่ไหน  เพราะฉนั้นจึงทรงจัดกองทัพเรือขึ้น ๒๐ ลำ  มีพล ๒๐๐๐ คน  ให้ยกทัพออกจากกรุงธนบุรีแต่ในเวลากลางคืน  รุ่งเช้าก็ถึงค่ายบางกุ้ง  มีพระมหามนตรีเป็นกองทัพหน้า  ทรงคุมทัพมาข้างหลัง  แล้วสั่งให้ทหารไทยเข้าล้อมโจรตีทันทีแต่เช้ามืด  ทหารไทยไล่ฆ่าฟันทหารพม่าล้มตายในน้ำบนบกเป็นอันมาก ที่หนีไปได้ไม่ถึง ๕๐๐   คน  นอกนั้นตายลอยน้ำและตายอยู่บนบกที่ค่ายบางกุ้งเกือบ ๑๕๐๐ คน   การศึกคร้ังนี้ก็เลื่องลือไปว่าทหารไทยฆ่าฟันทหารพม่าตายจนเหม็นคุ้งน้ำ  ทำให้ขวัญของคนไทยดีขึ้นและพม่าก็เริ่มขยาดฝืมือทหารไทยตั้งแต่น้ันมา 

    ควรสังเกตุว่าการศึกครั้งน้ันทรงมอบหมายให้พระมหามนตรี(บุญมา) เป็นนายทัพหน้า  แน่นอนที่สุดคงจะมีหลวงอร่ามเรืองฤทธิ์ (ทองด้วง)  ผู้พีชายช่วยหนุนทางเสบียงอาหารอยู่ด้วย   เพราะหลวงอร่ามเรืองฤทธิ์ (ทองด้วง) ไม่ได้หนีไปไหน  และไม่ได้หนีทัพมาจากไหน  คงเป็นหลวงอร่ามเรืองฤทธิ์ (ทองด้วง)  ยกกระบัตรเมืองสมุทรสงครามอยู่  เท่ากับต้ังก๊กเล็กอยู่ที่เมืองสมุทรสงครามพร้อมด้วยหลวงชลสินธุสงคราม (ศร ณ บางช้าง) .ปลัดเมืองซึ่งเป็นคู่เขยกัน  และวงศ์ญาติของภรรยาก็อุ่นหนาฝาคั่งเป็นตระกูลใหญ่มีญาติมากอยู่ในเมืองนี้  เมื่อพระพุทธยอดฟ้าได้เป็นพระมหากษัตริย์แล้วนั้น  บรรดาวงศ์ญาติที่เมืองนี้ก็กลายเป็นวงศ์ราชินิกุลบางช้างขึ้นมา  เท่าที่ลองสำรวจเจ้าเมืองในภาคพื้นนี้  มักเป็นคนในตระกูลบางช้างทั้งสิ้น   คนในวงศ์ญาติราชินิกุลบางช้างออกไปเป็นเจ้าเมืองกันมาก  เมืองราชบุรีก็เป็นของพวกวงศาโรจน์  เมืองกาญจนบุรีก็คนในวงศ์นี้  เมืองเพชรบุรีก็คนในตระกูลบุนนาค  เมืองสุพรรณบุรีก็เหมือนกัน  เมืองนครปฐมก็คนในวงตระกูลนี้ที่แยกวงศ์ออกไป    พระยาสุนทรบุรีศรีพิไชยสงคราม (ต้นตระกูล สุนทรศารทูล)   ก็ไปเป็นเจ้าเมืองนครปฐมหลายชั่วหลายคน  หลายคนก็แยกไปจากตระกูล ณ บางช้างนี่เอง   เมืองสมุทรสาครก็คนในวงศ์นี้เหมือนกัน  คนในวงศ์นี้ออกไปกินเมืองถึงเมืองถลางก็มี

     ที่นำเรื่องนี้มากล่าวไว้ก็เพื่อจะยืนยันว่า  พระพุทธยอดฟ้ามหาราชทรงเป็นหลวงอร่ามเรืองฤทธิ์ยกกระบัตรเมืองสมุทรสงคราม  ไม่เคยเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรีเลย  เป็นกรมการเมืองคนที่ ๓ รองจากพระแม่กลองบุรี และหลวงชลสินธุสงคราม 


(โปรดติดตามตอนต่อไป) 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น