วันอังคารที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

พระพุทธยอดฟ้ามหาราช (ตอนที่ ๗)




     พงศาวดารกล่าวว่าเมื่อเสร็จศึกค่ายบางกุ้งแล้ว  พระมหามนตรี (บุญมา) จึงขอพระบรมราชานุญาตออกไปรับหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี เข้ามารับราชการอยู่ในกรุงธนบุรี  พระเจ้าตากสินก็ทรงแต่งตั้งให้เป็นพระราชวรินทร์  เจ้ากรมพระตำรวจนอกซ้าย  ขณนั้นพระมหามนตรี (บุญมา) ผู้น้องชาย เป็นเจ้ากรมพระตำรวจสนมขวาอยู่   เราจะต้องทราบด้วยว่า ผู้จดพงศาวดารในรัชกาลนี้  ไม่ใช่ใครที่ไหน คือพระวันรัตน์(ทองอยู่) วัดบางหว้าใหญ่นั่นเอง  พระวันรัตน์(ทองอยู่) ผู้นี้เป็นที่เคารพนับถือของพระเจ้าตากสินมหาราช  เพราะพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเรียนพระกรรมฐานกับพระวันรัตน์(ทองอยู่)   พระพุทธยอดฟ้ามหาราชก็ทรงนับถือพระวันรัตน์ (ทองอยู่) นี้เช่นกัน  ในสมัยที่พระองค์เป็นแม่ทัพใหญ่อยู่ที่กรุงธนบุรี  ตั้งบ้านเรือนอยู่ข้างวัดบางหว้าใหญ่  ก็ทรงนำพระพุทธเลิศหล้านภาลัยฝากให้เรียนหนังสือและศิลปวิทยากับพระวันรัตน์(ทองอยู่)   พระวันรัตน์(ทองอยู่) ดูดวงชะตาพระพุทธเลิศหล้านภาลัยแล้วก็กล่าวว่า "ลูกคนนี้มีบุญจะได้พึ่งต่อไปในวันหน้า " เจ้าพระยาจักรี(ทองด้วง) จีงกล่าวว่า "ถ้ามีบุญก็ขอยกให้เป็นลูกเจ้าคุณเสียด้วย" 
  
     ต่อมาพระวันรัตน์(ทองอยู่) ได้สึกออกมา  แต่พระพุทธยอดฟ้ามหาราชทรงเห็นว่าท่านมีความรู้ดีในพระไตรปิฎก  จึงทรงแต่งต้ังให้เป็นหลวงอนุชิตพิทักษ์  รับราชการอยู่ในกรมมหาดไทย  ภายหลังได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยาพจนาพิมณฑ์ในรัชกาลที่ ๑  รับราชการอยู่ในกรมพระอาลักษณ์  จึงเป็นผู้จดพงศาวดารในสมัยรัชกาลที่ ๑   พระยาพจนาพิมณฑ์นี้ได้แต่งงาน  มีธิดาคนหนึ่งเมื่อโตเป็นสาว ได้ถวายธิดาคนนี้แก่พระพุทธเลิศหล้านภาลัยให้เป็นพระสนม  แต่พระพุทธเลิศหล้านภาลัยตรัสว่า  "ลูกสาวของพระอาจารย์จะรับไว้เป็นเมียหาสมควรไม่  แต่ไม่รับไว้เขาก็จะะเสียน้ำใจ  แต่จะรับไว้เป็นลูกสะใภ้ได้อยู่ดอก"   จึงทรงรับไว้ในพระราชวังแล้วพระราชทานพระสนมพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ซึ่งขณะน้ันเป็นพระเจ้าลูกยาเธอองค์ใหญ่ ดำรงยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์  ธิดาของพระยาพจนาพิมณฑ์ (ทองอยู่)  คนนี้ ชื่อว่า เอม มีบุตรกับพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวองค์หนึ่ง ชื่อว่า พระองค์เจ้าชายชุมแสง   ต่อมาเป็นกรมขุนราชสีห์วิกรม  เป็นต้นสกุล ชุมสาย ณ อยุธยา ในปัจจุบัน 
     
     ที่นำเรื่องพระยาพจนาพิมณฑ์ (ทองอยู่)  มาเล่าประกอบเรื่องนี้ไว้ เพื่อจะบอกว่าผู้จดพระราชพงศาวดารในรัชกาลที่ ๑ น้ัน ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน คือพระยาพจนาพิมณฑ์ (ทองอยู่) คนนี้เอง   ท่านนั่งจดอยู่ที่กรงเทพฯ ไม่เคยมาเมืองสมุทรสงคราม  ท่านจึงเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า  หลวงอร่ามเรืองฤทธิ์(ทองด้วง)นั้น  เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี  เพราะมักเข้าใจกันว่า "แขวงบางช้างเมืองราชบุรี"  คืออำเภอบางช้าง สมัยน้ันขึ้นแก่เมืองราชบุรี   แต่แท้ที่จริง แขวงบางช้าง ขึ้นกับเมืองสมุทรสงคราม  และเมืองสมุทรสงครามขึ้นแก่เมืองราชบุรี  บางทีท่านอาจจะเห็นว่า เมืองราชบุรีเป็นเมืองใหญ่ สมควรแก่เกียรติยศของหลวงยกกระบัตร(ทองด้วง) มากกว่าเมืองสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นเมืองเล็ก ท่านอาจจะไม่ได้เฉลียวใจว่า  เมืองสมุทรสงครามน้ันเป็นบ้านเมืองกำเนิดของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์(นาค) เป็นเมืองกำเนิดของพระศรีสุริเยนทรามาตย์(เจ้าหญิงบุญรอด)  และเป็นเมืองพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  เมื่อประสูติสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์(บุญรอด) น้ัน  สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ (แก้ว)  พระพี่นางของพระพุทธยอดฟ้ามหาราช  ก็อพยพหลบหนีภัยพม่าไปอาศัยอยู่กับพระพุทธยอดฟ้ามหาราชที่เมืองสมุทรสงคราม  และได้ให้กำเนิดสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์(เจ้าฟ้าหญิงบุญรอด)   เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ.๒๓๐๙   ถ้าพระพุทธยอดฟ้ามหาราชเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี  หนีพม่ามาอยู่เมืองสมุทรสงครามแล้ว   พี่สาวของท่านจะไปอาศัยอยู่ด้วยได้อย่างไรเล่า  ต่อมาวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๑๐(ซึ่งถ้านับเดือนมกราคมเป็นปีใหม่อย่างในปัจจุบัน ก็จะเป็นปีพ.ศ.๒๓๑๑)  คืออีก ๕ เดือนต่อมา สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ (นาค)ก็ประสูติพระพุทธเลิศหล้านภาลัยที่เมืองสมุทรสงครามนั่นเอง    แสดงว่าพระพุทธยอดฟ้าฯท่านอยู่อย่างหลวงยกกระบัตรสมุทรสงคราม   มีผู้คนบ่าวไพร่แวดล้อม  เมื่อน้องชายของท่าน คือ นายสุดจินดา(บุญมา) หนีทัพพม่าออกจากกรุงศรีอยุธยา  ก็มุ่งหน้าไปหาพี่ชายที่เมืองสมุทรสงคราม  ไม่ได้ไปเมืองราชบุรี เพราะเมืองราชบุรีเป็นเมืองหน้าด่าน พม่าเดินทางเข้ามาทางนั้นจะเดินทางไปหาพี่ชายได้อย่างไร  มีภัยอันตรายยิ่งกว่ากรงุศรีอยุธยาเสียอีก  แต่หนึไปหาพี่ชายที่เมืองสมุทรสงคราม   หวังจะหลบภัยพม่าอยู่กับพี่ชายที่เมืองสมุทรสงคราม  แต่พระพุทธยอดฟ้าฯ ท่านคอยสืบข่าวศึกอยู่ตลอดเวลา  เหมือนกับตั้งก๊กเล็กๆอยู่ที่เมืองนั้น  ท่านจึงทราบว่าพระเจ้าตากสินมหาราชไปตั้งตัวเป็นใหญ่อยู่ทางเมืองชลบุรี   ท่านจึงแนะนำน้องชายให้เดินทางไปพึ่งใบบุญพระเจ้าตากสินมหาราชอยู่ที่นั่น  ทั้งคาดการณ์ล่วงหน้าถูกต้องว่าในยามแผ่นดินว่างกษัตริย์เช่นนี้  คนที่จะได้เป็นใหญ่ในบ้านเมืองไม่พ้นพระเจ้าตากสินมหาราชแน่นอน  ท่านจึงแนะนำน้องชายให้ไปสืบหามารดาพระเจ้าตากสินมหาราช ที่ตกค้างอยู่ที่อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี  ท่านบอกว่า "เมื่อแม่ลูกเขาได้พบกัน  เขาก็จะดีใจอย่างล้นพ้น เจ้าก็จะได้พึ่งใบบุญเขาต่อไป" 

     การที่ท่านทราบว่ามารดาพระเจ้าตากสินมหาราชตกค้างอยู่ที่เมืองเพชรบุรีน้ัน    ย่อมแสดงว่าท่านอยู่อย่างมีบริวารมีหูมีตากว้างไกล   รู้ข่าวศึก รู้ว่าพระเจ้าตากสินมหาราชไปตั้งตัวเป็นใหญ่อยู่ทางเมืองชลบุรี  รู้ล่วงหน้าถึงเหตุการณ์ในอนาคตด้วยว่า  พระเจ้าตากสินมหาราชจะได้เป็นใหญ่ในบ้านเมือง  ถึงแก่ฝากของบรรณาการไปผูกพันทางพระไมตรีไว้  คือแหวนสองวงและดาบคร่ำทองโบราณของปู่ท่าน  ท่านยังสละให้ไป แล้วก็นัดหมายกับน้องชายว่า  เมื่อได้ช่องได้โอกาสให้ออกมารับพี่ชายพี่สาวไปอยู่ด้วย   นี่แสดงอยู่อย่างชัดเจนว่า ท่านอยู่ที่เมืองสมุทรสงครามอย่างหลวงอร่ามเรืองฤทธิ์ ที่มีตำแหน่ง มีบริวารข้าทาสไพร่พลอยู่ในเมืองนี้  ไม่ใช่มาอยู่อย่างหนีทัพพม่ามาแต่เมืองราชบุรีแต่อย่างใด  ตอนเข้าไปถวายตัวเข้ารับราชการ  ก็ต้องมีน้องชายขอพระบรมราชานุญาตยกขบวนออกมารับเข้าไปอย่างมีศักดิ์ศรี   เมื่อเข้าถวายตัวก็ได้รับแต่งตั้งเป็นพระราชวรินทร์  ตำแหน่งเจ้ากรมพระตำรวจนอกซ้ายในทันที  ยังไม่ทันได้ออกรบราข้าศึกแต่สักครั้ง  แสดงว่าท่านเป็นคนสำคัญอยู่ในสายพระเนตรของพระเจ้าตากสินมหาราช  ความรู้จักคุ้นเคยมาแต่ก่อนครั้งบวชอยู่ด้วยกันที่กรุงศรีอยุธยาอย่างหนึ่ง  ดาบคร่ำทองโบราณและแหวนที่ฝากไปถวายด้วยความจงรักภักดีอย่างหนึ่ง  กับความสำคัญที่เข้าไปถวายตัวด้วยมีไพร่พลติดตามไปด้วยเช่นนี้  พระเจ้าตากสินมหาราชย่อมจะเห็นความสำคัญของพระพุทธยอดฟ้าฯ จึงทรงแต่งต้ังให้เป็นเจ้ากรมพระตำรวจนอกซ้ายทันที  ถ้าเปรียบเทียบกันคนอื่นที่หนึทัพเข้าไปถวายตัวอย่างอนาถาเช่น หลวงนายสิทธิ์(หมุด)  ก็เพียงได้เป็นนายทหารในยศศักดิ์เดิมก่อน  เมื่อได้ทำความชอบแล้วจึงได้เลื่อนหน้าที่ขึ้น  แต่ก็ได้เป็นเพียงพระยาอนุราชบุรี  ผู้รั้งตำแหน่งเจ้าเมืองชลบุรี  เรียกว่าได้รับราชการอยู่ห่างๆ ไม่ได้ไว้วางพระทัยใกล้ชิดให้เป็นเจ้ากรมพระตำรวจนอกตำรวจในเหมือนพี่น้องคู่นี้เลย 


(โปรดติดตามตอนต่อไป) 
      

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น