วันอังคารที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2558

พระพุทธยอดฟ้ามหาราช (ตอนที่ ๑๒ )


     พระมหากษัตริย์ที่สืบสายพระโลหิตมาจากพระพุทธยอดฟ้าทุกพระองค์  ล้วนแต่เป็นนักกวี   นักการทูต  ตลอดมาทุกพระองค์
     พระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ก็ทรงเป็นขัตติยกวีเอก
     กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์  ก็ทรงเป็นนักกวีเอก  คือ ทรงพระราชนิพนธ์นิราศแม่น้ำน้อย  และนิราศนรินทร์  ดังกล่าวแล้ว
     พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ก็ทรงเป็นนักกวี   บทละครนอกเรื่องสังข์ศิลปชัย  นั่นคือบทพระราชนิพนธ์ 
     กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ  ก็เป็นนักกวี
     พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ก็เป็นนักกวี  มีอยู่หลายเรื่อง เช่น ปฐมวงศ์ เป็นต้น 
     พระปิยมหาราช  ก็ทรงเป็นนักกวี  เรื่องเงาะป่า  เรื่องนิทราชาคริต เป็นต้น
     พระมหาธีราชเจ้า  ก็เป็นนักกวี  มีอยู่มากมายหลายเรื่อง
     พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  ก็ทรงเป็นนักคึตกวี
     พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลมหาราช  ก็ทรงเป็นนักคีตกวี
     สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา  ก็ทรงเป็นนักกวี 

     นอกจากเป็นนักกวีแล้ว  ยังเป็นนักการศาสนา  อย่างชนิดที่เรียกว่าบวชจนตายในผ้าเหลืองก็มีอยู่หลายองค์  เช่น   
     สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส พระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ ๑ 
     สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์  พระราชโอรสกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์
     สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส  พระเจ้าลูกยาเธอในพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 
     สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรศิริวัฒน์  พระราชนัดดาในพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
     สมเด็จกรมหลวงวชิรญาณวงศ์ พระราชนัดดาในพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
     
     ดูเหมือนว่าเจ้านายในพระราชวงศ์จักรีนี้   ท่านจะสั่งสอนอบรมกันมาว่า "ให้ฝากชื่อไว้ในแผ่นดิน"  ไม่ปรากฎว่าท่านสั่งสอนกันมาแต่ครั้งไหน  แต่พระราชจริยาวัตรของท่านดูเหมือนว่าถือปฎิบัติกันมาเช่นนี้ตลอดสายราชวงศ์  แม้จนในสุดท้ายปลายแถวแล้วก็เป็นเช่นนี้   ตัวอย่างเช่น  ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช และ ม.ล. ปิ่น มาลากุล  แม้จนสุดสายแล้วอย่างนายกิ่ง พึ่งบุญ ณ อยุธยา  และ นายก้าน พึ่งบุญ ณ อยุธยา  ก็ยังเป็นนักประพันธ์มีชื่อว่ า "สุมทุม บุญเกื้อ"  และ "ไม้ เมืองเดิม"    
     เชื้อสายของพระพุทธยอดฟ้ามหาราชนี้  ถ้าไม่มีโอกาสจะรับใช้ชาติบ้านเมืองด้วยการเป็นข้าราชการพลเรือนและนายทหารแล้ว  ท่านก็จะเป็นนักกวีและนักประพันธ์  เชื้อสายเจ้านายใน  เชื้อสายเจ้านายในพระราชวงศ์จักรีนี้ จึงเป็นนักประพันธ์กันมาก  น่าจะมาจากคติที่ถือกันมาว่า  "ขอฝากชื่อไว้ในแผ่นดิน"  เป็นแน่ 

     ขอสรุปว่า  พระพุทธยอดฟ้ามหาราชและเชื้อสายในราชวงศ์จักรี  เป็นกษัตริย์นักรบ และนักกวี  นักการทูต  สืบสายพระโลหิตมาแต่เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน)  

     พระราชวงศ์จักรี ได้ครองแผ่นดินไทยนี้  สืบต่อกันมา ๒๐๐ ปีเป็นที่อัศจรรย์  ไม่มีพระราชวงศ์ใดครองแผ่นดินได้ยืนยาวนานเช่นนี้เลย  เพราะพระราชวงศ์จักรีนี้  เป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงทศพิธราชธรรม  สมดังพระปณิธานของพระพุทธยอดฟ้ามหาราชที่ว่า  

                                        "ตั้งใจจะอุปถัมภก
                                         ยกยกพระพุทธศาสนา
                                         ป้องกันขอบขัณฑสีมา
                                         รักษาประชาชนและมนตรี"  

(จบบริบูรณ์) 

วันอังคารที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2558

พระพุทธยอดฟ้ามหาราช (ตอนที่ ๑๑)



                พระพุทธยอดฟ้ามหาราชพระองค์นี้นอกจากเป็นกษัตริย์ชาตินักรัก นักรบแล้ว  ยังทรงเป็นนักวีเอกด้วย นิราศท่าดินแดงนั้นคือพระราชนิพนธ์ที่แสดงว่าทรงเป็นนักกวี  เมื่อเสด็จไปรบพม่าที่ท่าดินแดง ได้ทรงพระราชนิพนธ์เพลงยาวท่าดินแดงขึ้น ใช้พระนามว่า  เจ้าฟ้าจืด เราก็เข้าใจกันว่า เจ้าฟ้าจืดคร้ังกรุงศรีอยุธยา  แต่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงค้นพบว่าที่แท้เป็นพระราชนิพนธ์ของพระพุทธยอดฟ้ามหาราช  แต่ทรงปกปิดพระนามเนื่องจากเป็นเพลงยาวสังวาส  เป็นประเพณีที่ถือกันว่าไม่ควรแต่งเพลงยาวนิราศ  จึงต้องปกปิดพระนาม  
     ต่อมากรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ พระราชโอรส ซึ่งเป็นพระมหาอุปราชในรัชกาลที่ ๒ และเป็นพระบัณฑูรน้อยในรัชกาลที่ ๑ ทรงพระราชนิพนธ์ นิราศแม่น้ำน้อย ก็ทรงปกปิดพระนาม ใช้พระนามแฝงว่า "ศิษย์ศรีปราชญ์"  เมื่อทรงพระราชนิพนธ์นิราศนรินทร์ ก็ทรงใช้พระนามแฝงว่า "นรินทร์อิน"  ซึ่งเป็นนายมหาดเล็กที่ตามเสด็จในครั้งน้ัน  เมื่อพระปิยมหาราชทรงพระราชนิพนธ์เรื่องนิราศกาญจนบุรี  ในพ.ศ. ๒๔๑๖ ก็ทรงใช้พระนามว่า "ท้าวสุภัตติการภักดี(นาค)"  ดังนี้เป็นต้น 
     นอกจากพระพุทธยอดฟ้ามหาราชจะเป็นนักกวีแล้ว  ยังทรงเป็นนักการทูตชั้นยอดด้วย   ดังจะเห็นได้จากเรื่องที่ทรงฝากดาบฝากแหวนไปถวายพระเจ้าตากสินมหาราชครั้งกระโน้น  เพื่อฝากกายถวายชีวิตไว้  นี่คือหลักการทูตนั้นเอง    จะขอยกตัวอย่างอีกเรื่องหนี่ง คือ ในรัชกาลพระเจ้าตากสินมหาราชนั้นทรงแต่งตั้งให้พระพุทธยอดฟ้าไปปราบเวียงจันทร์  คราวที่ไปอัญเชิญพระแก้วมรกตกลับคืนมาเป็นของไทยนั่นแหละ คราวนั้น  ท้าวคำผง (ท้าวกุ)  หัวหน้าชาวเวียงจันทร์ได้อาสารบ  เรียกว่า เป็นสหายศึกของพระพุทธยอดฟ้า เมื่อพระพุทธยอดฟ้าได้ปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์แล้ว  ทรงแต่งตั้งให้ท้าวคำผง( ท้าวกุ)  เป็นเจ้าในราชวงศ์ พระราชทานนามว่า พระปทุมวรราชสุริยวงษ์   และตั้งเมืองอุบลขึ้นเป็นเมืองของสหายศึก  พระราชทานนามเมืองอุบลว่า  "เมืองอุบลราชธานีศรีวนาไลยประเทศราช"  ซึ่งมีเมืองเดียวในประเทศไทยที่มีนามว่า "ราชธานี"  เป็นราชธานีของใครล่ะ  ก็คือ ราชธานีของพระปทุมวรราชสุริยวงษ์นั่นเอง  ซึ่งเป็นกุศโลบายทางการทูตชั้นเยี่ยมที่มีเมืองราชธานีอยู่ในภาคอีสาน  คอยรับศึกด้านเขมร ลาว   อย่างนี้แล้วชาวอีสานจะไม่จงรักภักดีได้อย่างไร 
     เรื่องอย่างนี้ แม้กรมพระราชวังบวรมหาสุริสิงหนาทก็ทรงเป็นเช่นน้ันด้วย  คือ จีนเรือง พระสหายชาวชลบุรีนั้น  เมื่อได้ทรงเป็นพระมหาอุปราชก็ทรงขอให้พระพุทธยอดฟ้าแต่งตั้งจีนเรืองเป็นเจ้าต่างกรมมีพระนามว่า กรมขุนสุนทรภูเบศร์ (เรือง)  พระราชทานวังให้ที่ท่าพระ คือที่เป็นกรมศิลปากรทุกวันนี้ เรียกกันว่า วังท่าพระนั่นแหละ  เชื้อสาย ของกรมขุนสุนทรภูเบศร์ (เรือง)  ผู้นี้ พระมหาธีรราชเจ้าทรงพระราชทานนามสกุลให้ว่า  "สุนทรกุล ณ ชลบุรี"   ปัจจุบันนี้ทราบว่า เป็นผู้พิพากษาอยู่คนหนึ่ง  

     หลักการของนักการทูตนี้พระราชวงศ์จักรีทรงใช้มาโดยตลอด  ที่ประเทศไทยรอดปากเหยี่ยวปากกามาได้จนทุกวันนี้  ในขณะที่ประเทศใหญ่ๆต้องตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งจนหมดสิ้นนั้น  คือเรื่องของนักการทูตชั้นยอดของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีนี้เอง    ครั้งรัชกาลที่ ๔ นั้นพวกบุนนาคครองเมือง  คนทั้งหลายหวาดหวั่นกันว่าพวกตระกูลบุนนาคจะผลัดแผ่นดินขึ้นครองเมือง  เจ้านายทั้งหลายบางคนไม่กล้าออกจากวัง  แต่พระจอมเกล้าฯ ก็ทรงเป็นนักการทูตชั้นยอด  ได้ทรงปฎิบัติในสิ่งที่พระเจ้าเแผ่นดินแต่โบราณกาลมาไม่เคยปฎิบัติเลย  คือทรงส่งเถ้าแก่ผู้ใหญ่ไปสู่ขอคุณแพ หลานสาวของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)  มาเป็นสะใภ้หลวง  ทรงจัดการส่งขันหมากไปสู่ขอให้เป็นเกียรติยศหน้าตาแก่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)  แล้วให้ตบแต่งอยู่กินเป็นพระสนมเอกของพระราชโอรสที่จะสืบสันตติวงศ์ต่อไป คือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ 
      พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงทราบพระองค์ว่าจะสวรรคตแล้ว  ก็ทรงเรียกเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค)  บิดาของเจ้าคุณแพเข้ามาเฝ้า  ทรงมอบพระแสงดาบให้ ทรงมอบเงินให้หลายพันชั่ง ทรงฝากฝังพระราชโอรสว่า "ข้าเป็นคนลูกมากรากดก  เมื่อสิ้นบุญข้าแล้ว  อย่าให้ลูกข้าครองสมบัติเลย  ขอให้เจ้านายขุนนางประชุมเลือกเจ้านายองค์ใด ที่สมควรให้ขึ้นครองราชสมบัติเถิด  ลูกข้าอย่าให้เป็นเลย   ขอแต่เพียงว่าถ้ามีความผิดร้ายแรงอย่างไร ก็อย่าฆ่าเสียเลย เพียงแต่เนรเทศไปเสียเท่านั้น"   นี่แหละคือนักการทูตชั้นยอดที่สืบสายพระโลหิตมา อันไม่มีตำรับตำราเรียนกันเลยในมหาวิทยาลัย  แต่เกิดขึ้นเองในพระอุปนิสัยที่ฝังอยู่ในสายพระโลหิตนั่นเอง  

     พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕  ก็ทรงส่งพระราชโอรสไปเรียนที่ประเทศรัสเซีย ประเทศอังกฤษ และประเทศเยอรมนี พระมหาธีรราชเจ้านั้นเมื่อเกิดสงครามโลกขึ้น  ก็ทรงประกาศสงครามเข้าทางฝ่ายพันธมิตร ทรงส่งทหารไทยไปร่วมรบในยุโรปด้วย  แล้วก็ได้ผลดีในเวลาต่อมา ในการแก้สนธิสัญญาสิทธิภาพนอกราชอาณาจักรกับฝรั่งเศส   พระมหากษัตริย์ไทยที่สืบสายพระโลหิตมาจากพระพุทธยอดฟ้าฯทุกพระองค์ ล้วนแต่เป็นนักกวี นักการทูต ตลอดมาทุกพระองค์ 
(โปรดติดตามตอนต่อไป)

วันอังคารที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2558

พระพุทธยอดฟ้ามหาราช (ตอนที่ ๑๐)




         พระพุทธยอดฟ้ามหาราช ประสูติเมื่อแรม ๕ ค่ำ เดือน ๔  วันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๒๗๙  สวรรคตเมื่อแรม ๑๓ ค่ำ ปีมะเส็ง  วันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๓๕๒  พระชนมายุ ๗๒ พรรษา  ๕ เดือน  ๑๘ วัน   ทรงมีพระราชโอรสธิดารวม  ๔๒ พระองค์ ดังนี้ 
        ๑. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า )  ไม่ปรากฎพระนาม  สิ้นพระชนม์แต่ครั้งกรุงเก่ายังไม่สิ้น 
        ๒. สมเด็จเจ้าฟ้าชาย (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า)  ไม่ปรากฎพระนาม สิ้นพระชนม์แต่ครั้งกรุงเก่ายังไม่สิ้น 
        ๓.สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  เจ้าฟ้าฉิมใหญ่  เป็นพระราชชายาของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  และเป็นพระมารดาของเจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์  ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๑ ได้ทรงสถาปนาขึ้นเป็นกรมขุนกษัตรานุชิต 
        ๔. พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  พระนามเดิมว่า ฉิม  พระองค์นี้ทรงเป็นขัตติยะกวีเอก  สืบสายพระโลหิตมาแต่พระบิดา 
     ๕.สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ) พระนามเดิมว่า แจ่ม
        ๖.สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า)  ไม่ปรากฎพระนาม  สิ้นพระชนม์แต่ยังทรงพระเยาว์  เมื่อคร้ังแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  
        ๗. กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์   พระมหาอุปราชวังหน้าในรัชกาลที่ ๒ พระนามเดิมว่า จุ้ย  ทรงสืบสายพระโลหิตเป็นขัตติยะกวีเช่นเดียวกัน คือ ทรงพระราชนิพนธ์ นิราศนรินทร์ ในนามในนรินทร์ธิเบศ(อิน)  มหาดเล็กของพระองค์  คราวเสด็จเป็นแม่ทัพไปตีพม่า ไปถึงอ่าวมะนาว จังหวัดประจวบคีรีขันธ์   เมื่อปีพ.ศ.๒๓๕๒   ไม่ได้ไปถึงตะนาวศรีดังที่เข้าใจผิดกัน   ทรงพระราชนิพนธ์นิราศนรินทร์เมื่อพระชนมายุ ๓๗ พรรษา   ทรงนิพนธ์นิราศแม่น้ำน้อย  ในนามแฝง "ศิษย์ศรีปราชญ"   เมื่อคร้ังดำรงพระอิสสริยศเป็นกรมขุนเสนานุรักษ์  โดยตามเสด็จพระพุทธยอดฟ้ามหาราชไปตีทวายในพ.ศ. ๒๓๓๔  เมื่อมีพระชนมายุได้ ๑๙ พรรษา  ทรงเป็นต้นสกุล อิศรเสนา  และสกุลอื่นๆอีก ๕ สกุล 
        ๘. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า) ไม่ปรากฎพระนาม สิ้นพระชนม์เสียแต่ยังทรงพระเยาว์  เมื่อครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช 
       ๙. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าประไพวดี  กรมหลวงเทพยวดี)   พระนามเดิมว่า เอี้ยง 

สมเด็จเจ้าฟ้าทั้ง ๙ พระองค์นี้  สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี เป็นพระมารดาทั้งสิ้น  

        ๑๐. พระองค์เจ้าชายกล้าย  (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากล้าย )
        ๑๑. พระองค์เจ้าหญิงนุ่ม (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงนุ่ม) 
        ๑๒. พระองค์เจ้าชายทับทิม (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหมื่นอินทรพิพิธ)  เป็นต้นสกุล อินทรางกูร  
        ๑๓.พระองค์เจ้าหญิง (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้า)  ไม่ปรากฎพระนามสิ้นพระชนม์แต่ยังทรงพระเยาว์ 
        ๑๔.พระองค์เจ้าหญิงผะอบ(พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าผะอบ )
        ๑๕.พระองค์เจ้าหญิงพลับ( พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพลับ)
        ๑๖.กรมหลวงเทพพลภักดิ์ (พระองค์เจ้าชายอภัยทัต) 
        ๑๗. กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ (พระองค์เจ้าชายอรุโณทัย)   พระมหาอุปราชในรัชกาลที่ ๓ เป็นต้นสกุล  กำภู ณ อยุธยา และอื่นๆอีก  ๔ สกุล  พระองค์นี้ก็ทรงเป็นนักกวี
        ๑๘. กรมหมื่นจิตรภักดี (พระองค์เจ้าชายทับ)  ต้นสกุล ทัพพะกุล ณ อยุธยา  ผู้สลักบานประตูโบสถ์วัดสุทัศน์ (โดยถวายให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงลงพระหัตถ์เป็นฤกษ์ก่อน 
        ๑๙. พระองค์เจ้าหญิงธิดา (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธิดา) 
          ๒๐.กรมหมื่นศรีสุเรนทร์ (พระองค์เจ้าชายคันธรส)  ท่านผู้นี้ทรงเป็นนักกวี และต้องสิ้นพระชนม์เพราะแต่งบทกวีด้วยคำโคลงบทหนึ่งที่ว่า 
"ไกรสรพระเสด็จได้              ศึกชี
  กรมเจษฎาบดี                     เร่งไม้
  พิเรนทร์อเวจี                       ไป่คลาด
  อาจพลิกแผ่นดินได้             แม่นแม้น  เมืองมารฯ "
        ๒๑.พระองค์เจ้าหญิงจงกล  (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าจงกล)
        ๒๒. กรมพระรามอิศเรศ (พระองค์เจ้าชายสุริยา) ต้นสกุล สุริยกุล ณ อยุธยา
        ๒๓. พระองค์เจ้าหญิงเกสร ( พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเกสร)
        ๒๔.พระองค์เจ้าหญิงมณฑา (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงมณฑา)
        ๒๕.พระองค์เจ้าหญิงมณี (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงมณี)
        ๒๖. พระองค์เจ้าหญิงดวงสุดา (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงดวงสุดา) 
        ๒๗. พระองค์เจ้าหญิงจักรจั่น (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงจักรจั่น)
        ๒๘. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส (พระองค์เจ้าชายวาสุกรี)   ท่านเป็นกวีเอก ทรงพระนิพนธ์เรื่อง ปฐมสมโพธิคาถา  และลิลิตตะเลงพ่าย
        ๒๙. กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ (พระองค์เจ้าชายฉัตร)  ต้นสกุล ฉัตรกุล ณ อยุธยา 
        ๓๐. กรมหลวงพิเศษศรีสวัสดิสุขวัฒนวิไชย (พระองค์เจ้าชายสุริยวงศ์)
        ๓๑. พระองค์เจ้าหญิงอุบล (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงอุบล) 
        ๓๒.พระองค์เจ้าหญิงฉิมพลี (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าฉิมพลี)
        ๓๓.กรมหลวงรักษ์รณเรศ (พระองค์เจ้าชายไกรสร)  ต้นสกุล พึ่งบุญ ณ อยุธยา
        ๓๔. กรมหมื่นศรีสุเทพ (พระองค์เจ้าชายดารากร)  ต้นสกุล ดารากร ณ อยุธยา
        ๓๕.กรมหมื่นณรงค์หริรักษ์(พระองค์เจ้าชายดวงจักร)  ต้นสกุล ดวงจักร ณ อยุธยา 
        ๓๖.พระองค์เจ้าหญิงศศิธร  (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศศิธร) 
        ๓๗. พระองค์เจ้าหญิงเรไร (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเรไร) 
        ๓๘. พระองค์เจ้าหญิงกษัตรี (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงกษัตรี 
        ๓๙. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ( พระองค์เจ้าหญิงจันทบุรี )
        ๔๐. กรมหมื่นไกรสรพิชิต ( พระองค์เจ้าชายสุทัศน์) ต้นสกุล สุทัศน์  ณ อยุธยา
        ๔๑. พระองค์เจ้าหญิงสุภาธร  (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุภาธร) 
        ๔๒. พระองค์เจ้าหญิงสุด  (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุด)  
(โปรดติดตามตอนต่อไป) 

วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

พระพุทธยอดฟ้ามหาราช (ตอนที่ ๙)





        นอกจากพระราชกรณียกิจดังกล่าวแล้ว  ยังมีพระราชกรณียกิจสำคัญในรัชกาลของพระองค์ คือ 

      โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์  โดยตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีใหม่ ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา  เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๓๒๕

       โปรดเกล้าฯ ให้ยกเสาหลักพระนครใหม่ ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน  พ.ศ.๒๓๒๕ เดือนหก ขึ้น ๑๐ ค่ำ

       โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวังเป็นที่ประทับ และเป็นศูนย์บริหารราชการแผ่นดิน  ชื่อพระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท 

       โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีปราบดาภิเษกเมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๓๒๕  ตรงกับวันจันทร์ เดือน ๘ ขึ้น ๑ ค่ำ เมื่อพระชนมายุ ๔๖ พรรษา

       โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก  และจัดการสมโภชพระนคร  เมื่อเสร็จสิ้นการฉลองพระนครแล้ว  จึงทรงพระราชทานนามพระนครใหม่ว่า   "กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตาลสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประดิษฐ์" (ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ ทรงแปลงสร้อยพระนามพระนครเป็น อมรรัตนโกสินทร์)  

        โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ในพระบรมมหาราชวัง  เป็นที่สถิตของพระพุทธมหามณีรัตนปฎิมากร (พระแก้วมรกต)  

       โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระแก้วมรกตจากหอแก้ว ในพระราชวังเดิมเข้ามาประดิษฐาน ณ. พระอุโบสถในพระราชวังใหม่  พระราชทานนามพระอารามว่า  วัดพระศรีรัตนศาสดาราม  เมื่อวันจันทร์เดือน ๔ แรม ๔ ค่ำ ปีมะโรง  พ.ศ.๒๓๒๗   รัชกาลที่ ๑ ทรงพระราชดำริสร้างเครื่องทรงถวายสำหรับฤดูร้อนอย่างหนึ่ง  ฤดูฝนอย่างหนึ่ง เปลี่ยนทรงตามฤดูกาล   ครั้นรัชกาลที่ ๓ ทรงพระราชดำริสร้างเครื่องทรงฤดูหนาวอีกอย่างหนึ่ง  จึงเปลี่ยนแปลงมาเป็น  ๓ อย่างตามฤดูกาล

       โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระเทพบิดร คือพระรูปสมเด็จพระรามาธิบดี(อู่ทอง) ซึ่งเป็นปฐมวงศ์สร้างกรุงศรีอยุธยา  มาแปลงเป็นพระพุทธรูปหุ้มเงินปิดทองประดิษฐานไว้ในพระบรมมหาราชวัง   พระวิหารน้ันพระราชทานนามว่า หอพระเทพบิดร
       พ.ศ.๒๓๓๒ เกิดอสุนีบาตต้องที่หน้ามุขเด็จ  เพลิงลุกลามไหม้พระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาทเสียหายเกือบท้ังองค์   จึงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อลงแล้วสร้างพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทขึ้นแทน

       โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดและปฎิสังขรณ์วัดหลายแห่ง เช่น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม(วัดโพธิ์),  วัดระฆังโฆสิตาราม, วัดราชสิทธาราม, วัดยานนาวา, วัดอรุณราชวราราม, วัดสุวรรณาราม, วัดมหาธาตุ, วัดสระเกศ, วัดราชบูรณะ, วัดคูหาสวรรค์, วัดราชาธิวาสวิหาร(วัดสมอราย), วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร, วัดกฎีดาว จังหวัดอยุธยา, วัดสุวรรดาราม จังหวัดอยุธยา และเริ่มสร้างวัดสุทัศน์เทพวราราม  แต่ยังไม่ทันสำเร็จในรัชกาลที่ ๑ 

       โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญหลายองค์ ที่ถูกทอดทิ้งอยู่ตามหัวเมืองมาประดิษฐานอยู่ในกรุงเทพฯ  เช่น พระโต และพระศรีศากยมุนี  จากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองสุโขทัยมาประดิษฐานที่วัดสุทัศน์ฯ  อัญเชิญพระเทวโลกนาถจากวัดพระศรีสรรเพ็ชญ  กรุงศรีอยุธยามาประดิษฐานที่วัดพระเชตุพนฯ 

        โปรดเกล้าฯ ให้แบ่งหัวเมืองปักษ์ใต้ ฝ่ายตะวันตกซึ่งขึ้นกรมท่า ๑๙ เมือง มหาดไทย ๑ เมือง  มาขึ้นกับกรมพระกลาโหม  คือ เมืองสงขลา, พัทลุง, ปะทิว, คลองวาน, กุย, ปราณ, ตะนาวศรี, มะริด, กระ, ตะกั่วป่า,ตะกั่วทุุ่ง, พัทลุง, ถลาง, กาญจนบุรี, ไทรโยค, เพชรบุรี,  และยังคงขึ้นกับกรมท่า ๘ เมือง  คือเมืองนนทบุรี, สมุทรปราการ, สาครบุรี, ชลบุรี, บางละมุง,ระยอง, จันทบุรี,ตราด,  และยกเอาเมืองสมุทรสงคราม ซึ่งขึ้นกับกรมมหาดไทยเดิมให้ขึ้นกับกรมท่า รวมเป็น ๙ เมือง 

        โปรดเกล้าฯ ให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตชำระกฎหมายที่อยู่ในหอหลวงท้ังหมดที่ตกทอดมาแต่กรุงศรีอยุธยา แล้วจัดเป็นหมวดหมู่  เมื่อจัดเป็นหมวดหมู่แล้วเขียนไว้เป็น ๓ ชุด  เก็บไว้ในห้องเครื่อง หอหลวง  และศาลหลวงประทับตราราชสีห์  คชสีห์ และบัวแก้ว ทุกเล่ม เรียกว่า "กฎหมายตราสามดวง" 

        โปรดเกล้า ฯ ให้สังคายนาพระไตรปิฎกแล้วจารึกพระไตรปิฎกที่ชำระแล้วลงบนใบลานใหญ่ ปกปิดทองทึบท้ังหน้าและกรอบ  พระไตรปิฎกนี้เรียกว่า "พระไตรปิฎกฉบับทอง"  เก็บไว้ในหอพระมณเฑียรธรรม"  ในวัดพระแก้ว ต่อมาเกิดเพลิงไหม้หอพระมณเฑียรธรรมแต่ไม่ทันได้ไหม้พระไตรปิฎก จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระมณฑปเป็นทีเก็บพระไตรปิฎกแทน 

        โปรดเกล้าฯ ให้ชำระกฎหมายพระสงฆ์  เพื่อให้สมณสงฆ์ปฎิบัติถูกต้องตามแก่สมณเพศ  เป็นที่เคารพศรัทธาของคนทั่วไป และกำหนดข้อปฎิบัตสำหรับราษฎรในการบำเพ็ญตน ในเรื่องที่เกี่ยวกับพระสงฆ์

        ทรงฟื้นฟูและวางรากฐานประเพณีและพระราชพิธีต่างๆ  เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก  พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา พระราชพิธีโสกันต์

        โปรดเกล้าฯ ให้ส่งเสริม สร้างสรรค์วรรณคดี บางเรื่องทรงพระราชนิพนธ์เอง เช่น  รามเกียรติ์  อิเหนา อุณรุท  นิราศท่าดินแดง 

        โปรดเกล้าฯ ให้จัดทำหนังสือพงศาวดารขึ้น  โดยโปรดฯให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตชำระพระราชพงศาวดารของไทย  ซึ่งเรียกกันว่า "พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ" 

        โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ สำหรับเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคแบบอย่างโบราณราชประเพณี 


(โปรดติดตามตอนต่อไป) 

วันอังคารที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

พระพุทธยอดฟ้ามหาราช (ตอนที่ ๘)




         พระพุทธยอดฟ้ามหาราชนั้นทรงเป็นพระมหาวีรบุรุษอย่างไม่มีที่กังขา   เมื่อทรงรับราชการอยู่กับพระเจ้าตากสินมหาราช  ได้เป็นแม่ทัพออกรบถึง ๑๑ ครั้ง  รบชนะมีความดีความชอบก็ได้ทรงเลื่อนยศถาบรรดาศักดิ์อย่างรวดเร็วมาตลอด
        เป็นพระราชวรินทร์ เจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา เมื่อพระชนมายุ ๓๒ ปี(พ.ศ.๒๓๑๑)
        เป็นพระยาอภัยรณฤทธิ์ จางวางพระตำรวจซ้าย  เมื่อพระชนมายุ ๓๓ ปี (พ.ศ. ๒๓๑๒)
        เป็นเจ้าพระยายมราช   เสนาบดีกรมนครบาล เมื่อพระชนมายุ ๓๔ ปี(พ.ศ.๒๓๑๓)
        เป็นเจ้าพระยาจักรีอรรถมหาเสนาบดี ที่สมุหนายก เมื่อพระชนมายุ ๓๕ ปี(พ.ศ.๒๓๑๔) 

        เมื่อครั้งศึกอะแซหวุ่นกี้ พระเจ้าตากสินมหาราชโปรดพระราชทานยศให้เป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก พิลึกมหึมาทุกนคราระอาเดช  นเรศวรราชสุริยวงศ์ องค์วัตรบาทมุสิกากรบวรรัตนนายก  เมื่อ เดือน๖  ปีระกา  จ.ศ.๑๑๓๙  พระชนมายุ ๔๑ ปี (พ.ศ.๒๓๒๐)  
        เสด็จปราดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีเมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ.๒๓๒๕  พระชนมายุ ๔๖ ปี ครองราชย์สมบัติอยู่ ๒๗ ปี 
        
       เมื่อเป็นพระมหากษัตริย์  ทรงทำสงครามป้องกันรักษาอิสรภาพกับพม่าอีกถึง ๘ ครั้ง  ขับไล่พม่าออกไปจากแผ่นดินสยาม  และตามเข้าไปตีพม่าถึงเมืองพม่าถึง ๒ ครั้ง จนพม่าเข็ดขามไม่มารบกวนอีกเลย   สงครามครั้งสำคัญ คือสงคราม ๙ ทัพ  ซึ่งพระเจ้าปดุง กษัตริย์พม่า ทรงยกทัพเข้ามาตีทยตั้งแต่เหนือจดใต้รวม ๙ ทัพ   กองทัพไทยก็ตีกองทัพพม่าแตกพ่ายไปทุกทัพ 

        พระพุทธยอดฟ้ามหาราชทรงรวบรวมบ้านเมืองไทยเป็นปึกแผ่นกว้างขวางยิ่งกว่าครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี   ได้แผ่ขยายอาณาเขตมีประเทศราชมาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารมากมาย  ทำให้ราชอาณาจักรไทยมีดินแดนกว้างใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เป็นประเทศมา  ทิศเหนือเมื่อเป็นพระมหากษัตริย์แล้ว ได้เมืองเชียงใหม่, ทิศตะวันออกเฉียงใต้ได้เมืองหลวงพระบาง,เวียงจันทร์, ลานช้าง, ทิศตะวันออกได้เมืองพระตะบอง เสียมราฐ  นครจำปาศักดิ์ ศรีโสภณ, ทิศใต้ได้เมืองปะริด  กะลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี, ทิศตะวันตกได้เมืองทะวาย ตะนาวศรี  บ้านเมืองไทยสมัยพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกกว้างใหญ่ไพศาล  ประเทศเพื่อนบ้าน ลาว ญวน เขมร พม่า มลายู  เกรงกลัวทั่วไป 

(โปรดติดตามตอนต่อไป) 

วันอังคารที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

พระพุทธยอดฟ้ามหาราช (ตอนที่ ๗)




     พงศาวดารกล่าวว่าเมื่อเสร็จศึกค่ายบางกุ้งแล้ว  พระมหามนตรี (บุญมา) จึงขอพระบรมราชานุญาตออกไปรับหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี เข้ามารับราชการอยู่ในกรุงธนบุรี  พระเจ้าตากสินก็ทรงแต่งตั้งให้เป็นพระราชวรินทร์  เจ้ากรมพระตำรวจนอกซ้าย  ขณนั้นพระมหามนตรี (บุญมา) ผู้น้องชาย เป็นเจ้ากรมพระตำรวจสนมขวาอยู่   เราจะต้องทราบด้วยว่า ผู้จดพงศาวดารในรัชกาลนี้  ไม่ใช่ใครที่ไหน คือพระวันรัตน์(ทองอยู่) วัดบางหว้าใหญ่นั่นเอง  พระวันรัตน์(ทองอยู่) ผู้นี้เป็นที่เคารพนับถือของพระเจ้าตากสินมหาราช  เพราะพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเรียนพระกรรมฐานกับพระวันรัตน์(ทองอยู่)   พระพุทธยอดฟ้ามหาราชก็ทรงนับถือพระวันรัตน์ (ทองอยู่) นี้เช่นกัน  ในสมัยที่พระองค์เป็นแม่ทัพใหญ่อยู่ที่กรุงธนบุรี  ตั้งบ้านเรือนอยู่ข้างวัดบางหว้าใหญ่  ก็ทรงนำพระพุทธเลิศหล้านภาลัยฝากให้เรียนหนังสือและศิลปวิทยากับพระวันรัตน์(ทองอยู่)   พระวันรัตน์(ทองอยู่) ดูดวงชะตาพระพุทธเลิศหล้านภาลัยแล้วก็กล่าวว่า "ลูกคนนี้มีบุญจะได้พึ่งต่อไปในวันหน้า " เจ้าพระยาจักรี(ทองด้วง) จีงกล่าวว่า "ถ้ามีบุญก็ขอยกให้เป็นลูกเจ้าคุณเสียด้วย" 
  
     ต่อมาพระวันรัตน์(ทองอยู่) ได้สึกออกมา  แต่พระพุทธยอดฟ้ามหาราชทรงเห็นว่าท่านมีความรู้ดีในพระไตรปิฎก  จึงทรงแต่งต้ังให้เป็นหลวงอนุชิตพิทักษ์  รับราชการอยู่ในกรมมหาดไทย  ภายหลังได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยาพจนาพิมณฑ์ในรัชกาลที่ ๑  รับราชการอยู่ในกรมพระอาลักษณ์  จึงเป็นผู้จดพงศาวดารในสมัยรัชกาลที่ ๑   พระยาพจนาพิมณฑ์นี้ได้แต่งงาน  มีธิดาคนหนึ่งเมื่อโตเป็นสาว ได้ถวายธิดาคนนี้แก่พระพุทธเลิศหล้านภาลัยให้เป็นพระสนม  แต่พระพุทธเลิศหล้านภาลัยตรัสว่า  "ลูกสาวของพระอาจารย์จะรับไว้เป็นเมียหาสมควรไม่  แต่ไม่รับไว้เขาก็จะะเสียน้ำใจ  แต่จะรับไว้เป็นลูกสะใภ้ได้อยู่ดอก"   จึงทรงรับไว้ในพระราชวังแล้วพระราชทานพระสนมพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ซึ่งขณะน้ันเป็นพระเจ้าลูกยาเธอองค์ใหญ่ ดำรงยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์  ธิดาของพระยาพจนาพิมณฑ์ (ทองอยู่)  คนนี้ ชื่อว่า เอม มีบุตรกับพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวองค์หนึ่ง ชื่อว่า พระองค์เจ้าชายชุมแสง   ต่อมาเป็นกรมขุนราชสีห์วิกรม  เป็นต้นสกุล ชุมสาย ณ อยุธยา ในปัจจุบัน 
     
     ที่นำเรื่องพระยาพจนาพิมณฑ์ (ทองอยู่)  มาเล่าประกอบเรื่องนี้ไว้ เพื่อจะบอกว่าผู้จดพระราชพงศาวดารในรัชกาลที่ ๑ น้ัน ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน คือพระยาพจนาพิมณฑ์ (ทองอยู่) คนนี้เอง   ท่านนั่งจดอยู่ที่กรงเทพฯ ไม่เคยมาเมืองสมุทรสงคราม  ท่านจึงเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า  หลวงอร่ามเรืองฤทธิ์(ทองด้วง)นั้น  เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี  เพราะมักเข้าใจกันว่า "แขวงบางช้างเมืองราชบุรี"  คืออำเภอบางช้าง สมัยน้ันขึ้นแก่เมืองราชบุรี   แต่แท้ที่จริง แขวงบางช้าง ขึ้นกับเมืองสมุทรสงคราม  และเมืองสมุทรสงครามขึ้นแก่เมืองราชบุรี  บางทีท่านอาจจะเห็นว่า เมืองราชบุรีเป็นเมืองใหญ่ สมควรแก่เกียรติยศของหลวงยกกระบัตร(ทองด้วง) มากกว่าเมืองสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นเมืองเล็ก ท่านอาจจะไม่ได้เฉลียวใจว่า  เมืองสมุทรสงครามน้ันเป็นบ้านเมืองกำเนิดของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์(นาค) เป็นเมืองกำเนิดของพระศรีสุริเยนทรามาตย์(เจ้าหญิงบุญรอด)  และเป็นเมืองพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  เมื่อประสูติสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์(บุญรอด) น้ัน  สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ (แก้ว)  พระพี่นางของพระพุทธยอดฟ้ามหาราช  ก็อพยพหลบหนีภัยพม่าไปอาศัยอยู่กับพระพุทธยอดฟ้ามหาราชที่เมืองสมุทรสงคราม  และได้ให้กำเนิดสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์(เจ้าฟ้าหญิงบุญรอด)   เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ.๒๓๐๙   ถ้าพระพุทธยอดฟ้ามหาราชเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี  หนีพม่ามาอยู่เมืองสมุทรสงครามแล้ว   พี่สาวของท่านจะไปอาศัยอยู่ด้วยได้อย่างไรเล่า  ต่อมาวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๑๐(ซึ่งถ้านับเดือนมกราคมเป็นปีใหม่อย่างในปัจจุบัน ก็จะเป็นปีพ.ศ.๒๓๑๑)  คืออีก ๕ เดือนต่อมา สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ (นาค)ก็ประสูติพระพุทธเลิศหล้านภาลัยที่เมืองสมุทรสงครามนั่นเอง    แสดงว่าพระพุทธยอดฟ้าฯท่านอยู่อย่างหลวงยกกระบัตรสมุทรสงคราม   มีผู้คนบ่าวไพร่แวดล้อม  เมื่อน้องชายของท่าน คือ นายสุดจินดา(บุญมา) หนีทัพพม่าออกจากกรุงศรีอยุธยา  ก็มุ่งหน้าไปหาพี่ชายที่เมืองสมุทรสงคราม  ไม่ได้ไปเมืองราชบุรี เพราะเมืองราชบุรีเป็นเมืองหน้าด่าน พม่าเดินทางเข้ามาทางนั้นจะเดินทางไปหาพี่ชายได้อย่างไร  มีภัยอันตรายยิ่งกว่ากรงุศรีอยุธยาเสียอีก  แต่หนึไปหาพี่ชายที่เมืองสมุทรสงคราม   หวังจะหลบภัยพม่าอยู่กับพี่ชายที่เมืองสมุทรสงคราม  แต่พระพุทธยอดฟ้าฯ ท่านคอยสืบข่าวศึกอยู่ตลอดเวลา  เหมือนกับตั้งก๊กเล็กๆอยู่ที่เมืองนั้น  ท่านจึงทราบว่าพระเจ้าตากสินมหาราชไปตั้งตัวเป็นใหญ่อยู่ทางเมืองชลบุรี   ท่านจึงแนะนำน้องชายให้เดินทางไปพึ่งใบบุญพระเจ้าตากสินมหาราชอยู่ที่นั่น  ทั้งคาดการณ์ล่วงหน้าถูกต้องว่าในยามแผ่นดินว่างกษัตริย์เช่นนี้  คนที่จะได้เป็นใหญ่ในบ้านเมืองไม่พ้นพระเจ้าตากสินมหาราชแน่นอน  ท่านจึงแนะนำน้องชายให้ไปสืบหามารดาพระเจ้าตากสินมหาราช ที่ตกค้างอยู่ที่อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี  ท่านบอกว่า "เมื่อแม่ลูกเขาได้พบกัน  เขาก็จะดีใจอย่างล้นพ้น เจ้าก็จะได้พึ่งใบบุญเขาต่อไป" 

     การที่ท่านทราบว่ามารดาพระเจ้าตากสินมหาราชตกค้างอยู่ที่เมืองเพชรบุรีน้ัน    ย่อมแสดงว่าท่านอยู่อย่างมีบริวารมีหูมีตากว้างไกล   รู้ข่าวศึก รู้ว่าพระเจ้าตากสินมหาราชไปตั้งตัวเป็นใหญ่อยู่ทางเมืองชลบุรี  รู้ล่วงหน้าถึงเหตุการณ์ในอนาคตด้วยว่า  พระเจ้าตากสินมหาราชจะได้เป็นใหญ่ในบ้านเมือง  ถึงแก่ฝากของบรรณาการไปผูกพันทางพระไมตรีไว้  คือแหวนสองวงและดาบคร่ำทองโบราณของปู่ท่าน  ท่านยังสละให้ไป แล้วก็นัดหมายกับน้องชายว่า  เมื่อได้ช่องได้โอกาสให้ออกมารับพี่ชายพี่สาวไปอยู่ด้วย   นี่แสดงอยู่อย่างชัดเจนว่า ท่านอยู่ที่เมืองสมุทรสงครามอย่างหลวงอร่ามเรืองฤทธิ์ ที่มีตำแหน่ง มีบริวารข้าทาสไพร่พลอยู่ในเมืองนี้  ไม่ใช่มาอยู่อย่างหนีทัพพม่ามาแต่เมืองราชบุรีแต่อย่างใด  ตอนเข้าไปถวายตัวเข้ารับราชการ  ก็ต้องมีน้องชายขอพระบรมราชานุญาตยกขบวนออกมารับเข้าไปอย่างมีศักดิ์ศรี   เมื่อเข้าถวายตัวก็ได้รับแต่งตั้งเป็นพระราชวรินทร์  ตำแหน่งเจ้ากรมพระตำรวจนอกซ้ายในทันที  ยังไม่ทันได้ออกรบราข้าศึกแต่สักครั้ง  แสดงว่าท่านเป็นคนสำคัญอยู่ในสายพระเนตรของพระเจ้าตากสินมหาราช  ความรู้จักคุ้นเคยมาแต่ก่อนครั้งบวชอยู่ด้วยกันที่กรุงศรีอยุธยาอย่างหนึ่ง  ดาบคร่ำทองโบราณและแหวนที่ฝากไปถวายด้วยความจงรักภักดีอย่างหนึ่ง  กับความสำคัญที่เข้าไปถวายตัวด้วยมีไพร่พลติดตามไปด้วยเช่นนี้  พระเจ้าตากสินมหาราชย่อมจะเห็นความสำคัญของพระพุทธยอดฟ้าฯ จึงทรงแต่งต้ังให้เป็นเจ้ากรมพระตำรวจนอกซ้ายทันที  ถ้าเปรียบเทียบกันคนอื่นที่หนึทัพเข้าไปถวายตัวอย่างอนาถาเช่น หลวงนายสิทธิ์(หมุด)  ก็เพียงได้เป็นนายทหารในยศศักดิ์เดิมก่อน  เมื่อได้ทำความชอบแล้วจึงได้เลื่อนหน้าที่ขึ้น  แต่ก็ได้เป็นเพียงพระยาอนุราชบุรี  ผู้รั้งตำแหน่งเจ้าเมืองชลบุรี  เรียกว่าได้รับราชการอยู่ห่างๆ ไม่ได้ไว้วางพระทัยใกล้ชิดให้เป็นเจ้ากรมพระตำรวจนอกตำรวจในเหมือนพี่น้องคู่นี้เลย 


(โปรดติดตามตอนต่อไป) 
      

วันจันทร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

พระพุทธยอดฟ้ามหาราช (ตอนที่ ๖)



       พระราชพงศาวดารจดไว้ว่า  เมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชทรงตั้งกรุงธนบุรีขึ้นแล้ว   พม่ายังไม่สิ้นความพยายามที่จะตีเอาไทยเป็นเมืองขึ้นให้จงได้  จึงเตรียมส่งกองทัพเข้าตีเมืองไทยใหม่  ได้ส่งกองทัพเข้ามาตั้งค่ายหาเสบียงอาหารที่เมืองกาญจนบุรี  แล้วส่งกองกำลังเข้ามาตระเวนปล้นหาเสบียงอาหารอยู่แถวเมืองราชบุรี   ยกกำลังเข้ามาจนถึงค่ายจีนบางกุ้ง  เมืองสมุทรสงคราม เข้าล้อมค่ายจีนบางกุ้งไว้   ทหารจีนต่อสู้จนเสบียงอาหารหมด  ค่ายจวนจะแตกอยู่แล้ว กรมการเมืองสมุทรสงครามจึงมีใบบอกไปทางกรุงธนบุรี  กรมการเมืองในที่นี้พงศาวดารไม่ได้บอกว่าเป็นใคร  ไม่ได้บอกว่าเป็นผู้ว่าราชการเมือง  เพราะขณะนั้นเจ้าเมืองสมุทรสงครามไม่มีตัว  ทางสมุทรสงครามมีแต่หลวงปลัดเมือง  คือ หลวงชลสินธุสงคราม (ศร ต้นตระกูล ณ  บางช้าง)  กับหลวงอร่ามเรืองฤทธิ์(ทองด้วง)  ยกกระบัตรเมืองเป็นกรมการเมืองอยู่  ทั้งสองท่านนี้เกี่ยวดองเป็นวงศ์ญาติกันทางภรรยา  กรมการเมืองที่มีใบบอกไปทางกรุงธนบุรีคงจะเป็นสองท่านคู่เขยนี่เอง หาใช่ใครอื่นไม่  พระเจ้าตากสินได้ทรงทราบข่าวศึก "ก็ทรงดีพระทัยดังได้ลาภทั้่งปวง"  พงศาวดารว่าไว้อย่างนี้  เพราะขณะน้ันคนไทยไม่มีขวัญ กลัวพม่าเหมือนยักษ์กลัวมารก็ปานกัน  ถึงแก่มีคำขู่เด็กขี้อ้อนร้องไห้โยเยว่า  "แน่ะ พม่ามาแล้ว"  เหมือนที่ขู่เด็กในเวลาต่อมาว่า  "เดี๋ยวตำรวจจับ"   หรือเหมือนลาวโข่งทางเหนือเวียงจันทร์ขู่ลูกหลานว่า  "บักโกย มาแล้ว" (บักโกย นี้คือทหารไทยหรือคนไทยที่ไปรบแล้วกวาดต้อนเอาลาวโข่งมาทางแถว นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี หลายหมื่นคน  คนลาวโข่งก็ขยาดทหารไทยเหมือนคนไทยกลัวพม่า)   ฉนั้นเมื่อพระเจ้าตากสินได้ข่าวศึกพม่ามาตีค่ายบางกุ้ง  จึงทรงดีพระทัยเหมือนได้แก้ว   เพราะทรงมีความปรารถนาที่จะตีพม่าให้ราบเรียบ   เพื่อปลุกใจคนไทยว่าไม่ต้องกลัวพม่า  พม่าไม่ใช่ยักษ์มารที่ไหน  เพราะฉนั้นจึงทรงจัดกองทัพเรือขึ้น ๒๐ ลำ  มีพล ๒๐๐๐ คน  ให้ยกทัพออกจากกรุงธนบุรีแต่ในเวลากลางคืน  รุ่งเช้าก็ถึงค่ายบางกุ้ง  มีพระมหามนตรีเป็นกองทัพหน้า  ทรงคุมทัพมาข้างหลัง  แล้วสั่งให้ทหารไทยเข้าล้อมโจรตีทันทีแต่เช้ามืด  ทหารไทยไล่ฆ่าฟันทหารพม่าล้มตายในน้ำบนบกเป็นอันมาก ที่หนีไปได้ไม่ถึง ๕๐๐   คน  นอกนั้นตายลอยน้ำและตายอยู่บนบกที่ค่ายบางกุ้งเกือบ ๑๕๐๐ คน   การศึกคร้ังนี้ก็เลื่องลือไปว่าทหารไทยฆ่าฟันทหารพม่าตายจนเหม็นคุ้งน้ำ  ทำให้ขวัญของคนไทยดีขึ้นและพม่าก็เริ่มขยาดฝืมือทหารไทยตั้งแต่น้ันมา 

    ควรสังเกตุว่าการศึกครั้งน้ันทรงมอบหมายให้พระมหามนตรี(บุญมา) เป็นนายทัพหน้า  แน่นอนที่สุดคงจะมีหลวงอร่ามเรืองฤทธิ์ (ทองด้วง)  ผู้พีชายช่วยหนุนทางเสบียงอาหารอยู่ด้วย   เพราะหลวงอร่ามเรืองฤทธิ์ (ทองด้วง) ไม่ได้หนีไปไหน  และไม่ได้หนีทัพมาจากไหน  คงเป็นหลวงอร่ามเรืองฤทธิ์ (ทองด้วง)  ยกกระบัตรเมืองสมุทรสงครามอยู่  เท่ากับต้ังก๊กเล็กอยู่ที่เมืองสมุทรสงครามพร้อมด้วยหลวงชลสินธุสงคราม (ศร ณ บางช้าง) .ปลัดเมืองซึ่งเป็นคู่เขยกัน  และวงศ์ญาติของภรรยาก็อุ่นหนาฝาคั่งเป็นตระกูลใหญ่มีญาติมากอยู่ในเมืองนี้  เมื่อพระพุทธยอดฟ้าได้เป็นพระมหากษัตริย์แล้วนั้น  บรรดาวงศ์ญาติที่เมืองนี้ก็กลายเป็นวงศ์ราชินิกุลบางช้างขึ้นมา  เท่าที่ลองสำรวจเจ้าเมืองในภาคพื้นนี้  มักเป็นคนในตระกูลบางช้างทั้งสิ้น   คนในวงศ์ญาติราชินิกุลบางช้างออกไปเป็นเจ้าเมืองกันมาก  เมืองราชบุรีก็เป็นของพวกวงศาโรจน์  เมืองกาญจนบุรีก็คนในวงศ์นี้  เมืองเพชรบุรีก็คนในตระกูลบุนนาค  เมืองสุพรรณบุรีก็เหมือนกัน  เมืองนครปฐมก็คนในวงตระกูลนี้ที่แยกวงศ์ออกไป    พระยาสุนทรบุรีศรีพิไชยสงคราม (ต้นตระกูล สุนทรศารทูล)   ก็ไปเป็นเจ้าเมืองนครปฐมหลายชั่วหลายคน  หลายคนก็แยกไปจากตระกูล ณ บางช้างนี่เอง   เมืองสมุทรสาครก็คนในวงศ์นี้เหมือนกัน  คนในวงศ์นี้ออกไปกินเมืองถึงเมืองถลางก็มี

     ที่นำเรื่องนี้มากล่าวไว้ก็เพื่อจะยืนยันว่า  พระพุทธยอดฟ้ามหาราชทรงเป็นหลวงอร่ามเรืองฤทธิ์ยกกระบัตรเมืองสมุทรสงคราม  ไม่เคยเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรีเลย  เป็นกรมการเมืองคนที่ ๓ รองจากพระแม่กลองบุรี และหลวงชลสินธุสงคราม 


(โปรดติดตามตอนต่อไป) 

วันศุกร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2558

พระพุทธยอดฟ้ามหาราช (ตอนที่ ๔)




     เมื่อกรุงเก่าแตกนั้น ข้าราชการส่วนใหญ่ก็ถูกกวาดต้อนไปเมืองพม่ามากกว่ามาก  ส่วนหนึ่งก็หนีเข้าป่าไป บ้างก็หนีไปเข้าก๊กเจ้าพระยาพิษณุโลก(เรือง)  เช่น หลวงพินิจอักษร (ทองดี)  กับบุตรชายคนเล็ก ซึ่งเจ้าพระยาพิษณุโลกได้ตั้งให้เป็นพระยาจักรีอยู่ในก๊กพระยาพิษณุโลก  และถึงแก่กรรมอยู่ในเมืองนั้น บุตรชายชื่อ  ลา  จึงได้นำกระดูกมาถวายพระพุทธยอดฟ้าในภายหลัง  บางคนก็หนีไปเข้าอยู่กับก๊กเจ้าตากที่เมืองจันทบุรี  เช่น หลวงสิทธินายเวร(หมุด)  ซึ่งภายหลังได้เป็นเจ้าพระยาจักรี (หมด สมุทรานนท์)  ท่านผู้นี้เป็นแขกอาหรับ



     ส่วนนายสุดจินดา(บุญมา)  นั้นได้ลงเรือโกลนพายเล็ดลอดหนีออกจากกรุงศรีอยุธยา มุ่งหน้าไปอยู่กับหลวงอร่ามเรืองฤทธิ์ (ทองด้วง)  ผู้พี่ที่เมืองสมุทรสงคราม พร้อมด้วยเพื่อนร่วมตายอีกสองคน  กลางคืนจึงพายเรือมาตามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กลางวันก็เข้าแอบพักอยู่ตามพุ่มไม้ชายฝั่งเรื่อยมาก เมื่อผ่านค่ายพม่าที่ตั้งกองรักษาลำน้ำอยู่  ทหารในค่ายพม่าตีฆ้องให้หยุด นายสุดจินดา(บุญมา)  ก็ทำใจดีสู้เสือ เอาฆ้องกระแต สมบัติของปู่ที่ติดตัวมาตึขึ้นรับ  ทำนองว่าเป็นทหารพม่าออกตรวจลำน้ำ  ก็รอดมาได้โดยตลอด คร้้นถึงป้อมวิไชยประสิทธิ์ แลเห็นทหารพม่าแจวเรือสวนขึ้นมา  จึงแวะขึ้นพักที่วัดสลัก (คือวัดมหาธาตุ ทุกวันนี้ ซึ่งท่านได้สร้างขึ้นใหม่เมื่อเป็นวังหน้า)  แล้วลงเรือโกลนพายต่อมา พอแลเห็นเรือพม่าแจวสวนทางมาก็ล่มเรือลงคว่ำเอาครอบหัวไว้ เอามือพยุงเรือให้ลอย ค่อยว่ายกกระดิกน้ำไป เอาผักตบชวามาคลุมเรือไว้เพื่อพรางตาพม่าพอผ่านพ้นมาได้ 

     เมื่อถึงเมืองสมุทรสาคร ก็ขึ้นนอนพักเอาแรงตามบ้านร้าง คนไทยตอนน้ันหนีพม่าเข้าป่าไปหมดแล้ว นายสุดจินดาและคณะเดินทางไปตามคลองสุนัขหอน ฝนตกฟ้าผ่าเรือทะลุ ฆ้องกระแตจมน้ำหายไป ต่อมาก็มีพวกปล้นยกพวกเข้ามาปล้นเรือ จึงส่งเสียงเป็นภาษาพม่า พวกปล้นตกใจหนึไป ทิ้งดาบไว้ให้เล่มหนึ่ง จึงใช้เป็นอาวุธคู่มือต่อมา เดินทางไปจนถึงบางช้าง เพื่อหาหลวงอร่ามเรืองฤทธิ์ผู้พี่ชาย หลวงอร่ามเรืองฤทธิ์(ทองด้วง)  พี่ชายจึงแนะนำว่า "อย่าอยู่ที่นี่เลย  เพราะเป็นทางเดินทัพของพม่า ไม่ปลอดภัย ขณะนี้พี่ได้ทราบว่าพระยาตากสินไปตั้งตัวเป็นใหญ่อยู่ที่เมืองชลบุรี  ฝั่งตะวันออก  กองทัพพม่าไปไม่ถึง เป็นที่ปลอดภัยกว่า ในยามแผ่นดินว่างกษัตริย์เช่นนี้คนที่จะเป็นใหญ่ในแผ่นดินต่อไปนั้น เห็นจะไม่พ้นฝืมือพระยาตากไปได้  เจ้าก็เป็นคนคุ้นเคยกันอยู่ จงอุตส่าห์ไปพึ่งใบบุญเขาเถิด แต่ก่อนจะไป จงอุตส่าห์สืบค้นหามารดาพระยาตากที่ตกค้างอยู่บ้านแหลมเมืองเพชรบุรีแล้วพาตัวไปให้แม่ลูกเขาได้พบกัน พระยาตากก็จะยินดีเป็นล้นพ้น  เจ้าจะได้พึ่งเขาต่อไปในภายหน้า "
     นายสุดจินดาผู้น้องชายก็ตอบว่า ยังไปไม่ได้  ขัดข้องที่เรือใหญ่พอจะข้ามทะเลได้ไม่มี หลวงอร่ามเรืองฤทธิ์ ก็ว่า

"เรือสำปั้นยาวสี่วาที่มีอยู่ จมน้ำไว้ในคูข้างบ้าน ให้ไปกู้ขึ้นมาพอจะข้ามทะเลได้"   นายสุดจินดา(บุญมา)  กับเพื่อนจึงไปกู้เรือขึ้นมาพร้อมเดินทางไปบ้านแหลม เมืองเพชรบุรี  หลวงอร่ามเรืองฤทธิ์(ทองด้วง)  จึงได้มอบเสื้อผ้าและเสบียงอาหารสำหรับเดินทางให้  แล้วไปหยิบเอาดาบคร่ำทองโบราณมาเล่มหนึ่งกับแหวนสองวง เป็นแหวนพลอยบุศราคำน้ำทอง และ แหวนทับทิม ทรงรังแตน  มามอบให้น้องชายแล้วกล่าวว่า "แหวนนี้เป็นของเมียพี่  ดาบนี้เป็นของปู่ที่รับสืบตระกูลมา  พี่ขอฝากไปให้พระยาตากสินด้วย  ว่าพี่ฝากมาเป็นเครื่องระลึกถึงกันในยามยากแค้นแสนกันดาร" นายสุดจินดา(บุญมา)  ก็ว่าอยากให้พี่ไปด้วย  แต่หลวงอร่ามเรืองฤทธิ์(ทองด้วง)  ตอบว่า พี่ยังไปไม่ได้ขณะนี้  เพราะพี่สะใภ้ของเจ้าก็ตั้งท้องอีหลักอีเหลื่ออยู่  พี่แก้วก็ต้ังท้องจวนคลอดเหมือนกัน  เมื่อพี่สาวและพี่สะใภ้เจ้าคลอดลูกแล้วจึงจะไปได้  ขอให้เจ้าเดินทางล่วงหน้าไปก่อน  เมื่อสบโอกาสแล้วก็ขอให้ออกมารับพี่ไปอยู่ด้วยภายหลัง 

   
(โปรดติดตามตอนต่อไป) 
     


วันจันทร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2558

พระพุทธยอดฟ้ามหาราช( ตอนที่ ๕)



     นายสุดจินดา(บุญมา)  จึงได้เดินทางข้ามทะเลไปยังบ้านแหลมเมืองเพชรบุรี  เที่ยวสืบค้นหามารดาพระยาตากสินจนพบ  เพราะเคยรู้จักคุ้นเคยกันอยู่ก่อน  จึงรับมารดาพระยาตากสินลงเรือไปด้วย  เดินทางรอนแรมลัดเลาะไปตามชายฝั่งทะเลแต่ในเวลากลางคืน  พอเวลากลางวันก็หยุดพักตามพุ่มไม้ชายฝั่งเรื่อยไป  ๑๕ วันจึงถึงเมืองชลบุรี  นายสุดจินดา(บุญมา)  มีเพื่อนรักคนหนึ่งอยู่ที่เมืองชลบุรี ชื่อจีนเรือง เป็นลูกจึนแม่ไทย  จึงได้เข้าพักอาศัยอยู่ที่บ้านจีนเรืองซึ่งเป็นสหายรัก  แล้วถามหาพระยาตากสิน  จึนเรืองจึงบอกว่าบัดนี้พระยาตากสินได้จากเมืองชลบุรีแล้ว ไปตั้งตัวเป็นเจ้าอยู่ที่เมืองจันทบุรี 
      คร้ันแล้วจึนเรืองก็ให้เชิญมารดาพระยาตากสินขึ้่นไปพักนอนบนเรือนชั้นบน  ส่วนตนเองพร้อมด้วยครอบครัวแลคณะสหายนายสุดจินดา(บุญมา)  ลงมานอนอยู่ใต้ถุนเรือน  แล้วจึนเรืองก็ไปหาช้างมาให้มารดาพระยาตากสินขึ้นนั่งบนหลังช้าง  ส่วนตัวจีนเรืองนายสุดจินดาและสหายก็เดินระวังตีนช้างไปเหมือนจตุรังคบาท  ระมัดระวังรักษามารดาพระยาตากสินอย่างดี  เดินทางไปถึงเมืองจันทบุรีจึงให้ปลงช้างไว้นอกกำแพงเมือง  ส่วนนายสุดจินดา(บุญมา)  ขออนุญาตทหารเฝ้าประตูเข้าไปขอเฝ้าพระยาตากสินแต่เพียงผู้เดียว  ขณะน้ันพระยาตากสินกำลังว่าราชการอยู่ที่ท้องพระโรงที่ศาลากลางเมือง แลเห็นนายสุดจินดา(บุญมา)  คลานเข้ามาเฝ้ากราบถวายบังคมดั่งเป็นมหาดเล็ก  จึงร้องทักด้วยความดีพระทัยว่า "เฮ้ย  บุญมาไปอย่างไรมาอย่างไรถึงที่นี่ เป็นสุขสบายดีอยู่ดอกหรือ"  แล้วตรัสต่อไปว่า "เรามาอยู่ที่เมืองจันทบุรีนี้ก็เป็นสุขดีอยู่ แต่ยังมีความทุกข์อยู่อีก ๒ ข้อ  ข้อหนึ่งคือทุกข์ถึงบ้านเมืองว่าจะแก้มือพม่าได้อย่างไร  ข้อสองก็ทุกข์ถึงมารดาของเราว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไรก็ไม่รู้เลย  ความทุกข์ของเราสองข้อนี้  ถ้าแม้นว่าผู้ใดช่วยเราให้หายทุกข์ได้แล้ว  เราจะไม่ลืมคุณเลยจนตลอดชีวิต"

     ขณะน้ัน นายสุดจินดา(บุญมา) เห็นได้ช่อง จึงรีบกราบทูลว่า "อันความทุกข์ของพระเจ้าอยู่หัวสองข้อนั้น ข้าพระพุทธเจ้าขอรับได้ข้อหนึ่ง คือทุกข์ถีงพระราชมารดา  ข้าพระพุทธเจ้าช่วยได้ พระเจ้าข้า" พระเจ้าตากสินจึงตรัสถามว่า "เช่นนั้นหรือ บุญมา เจ้ารู้ว่ามารดาของเราอยู่ที่ใด จงเร่งบอกเรามาโดยเร็วเถิด" 

     นายสุดจินดา(บุญมา) จึงกราบทูลว่า"มารดาของพระเจ้าอยู่หัวพักช้างอยู่นอกกำแพงวัง ขอจงจัดผู้ใหญ่ให้ไปเชิญมาเถิด" 

     พระเจ้าตากสินจึงให้จัดคนไปเชิญเข้ามาพักในกำแพงวัง  แล้วทรงตั้งนายสุดจินดา (บุญมา) เป็นพระมหามนตรี เจ้ากรมพระตำรวจสนมขวาโดยทันที  แล้วตรัสว่า "บุญคุณของเจ้าครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก  เราจักไม่ลืมคุณของเจ้าเลยตลอดชีวิต แม้เจ้ารับราชการอยู่กับเรา  จักทำผิดร้ายแรงสถานใด  เราก็จะไม่ฆ่าเจ้าเป็นความสัตย์"

     ที่นำเรื่องนี้มาเล่ายืดยาวก็เพื่อจะยืนยันว่า  พระพุทธยอดฟ้านั้น เป็นหลวงอร่ามเรืองฤทธิ์ ยกกระบัตรเมืองสมุทรสงคราม  นามตำแหน่งหลวงอร่ามเรืองฤทธิ์  เป็นนามตำแหน่งหลวงยกกระบัตรเมืองสมุทรสงคราม    นามปลัดเมืองคือ  หลวงชลสินธุสงคราม  นามเจ้าเมืองคือพระแม่กลองบุรีศรีมหาสมุทร  หลวงอร่ามเรืองฤทธิ์ เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองสมุทรสงครามมาต้ังแต่แรก โดยได้ไปอยู่ในบ้านเมืองของภรรยา  วงศ์ญาติของภรรยาก็เป็นเจ้าเมืองอยู่ในเวลาน้ันคือ  พระแม่กลองบุรี(เสม วงศาโรจน์)  ปลัดเมืองก็เป็นวงศ์ญาติของภรรยาด้วย  มิหนำซ้ำยังได้แต่งงานกับ คุณแก้ว  น้องสาวของคุณนาค ภรรยาของหลวงยกกระบัตรทองด้วงด้วย   เรียกว่ารับราชการอยู่ในวงศ์ญาติแวดล้อมคับคั่ง  มีไพร่พลมีหูตาสืบข่าวศึกใกล้ไกล รู้ข่าวสารบ้านเมืองได้อย่างดี  ไม่ใช่อยู่อย่างหนีศึกพม่ามาแต่เมืองราชบุรี  ไม่มีตำแหน่งหน้าที่ไมมีไพร่พลแต่อย่างใดเลย   ท่านจึงทราบข่าวนางนกแก้ว มารดาพระยาตากสินว่าเป็นชาวบ้านแหลม เมืองเพชรบุรี คงอยู่ที่บ้านแหลม เมืองเพชรบุรี ท่านจึงมอบเรือสำปั้นและเสบียงอาหารให้น้องชายเดินทางไปรับนางนกแก้ว ไปหาพระยาตากสิน  เมื่อพระแม่กลองบุรี (เสม วงศาโรจน์) ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองราชบุรี ในปีพ.ศ. ๒๓๑๐ นั้น  หลวงชลสินธุสงคราม (ศร ณ บางช้าง)   จึงได้รับแต่งต้้งเป็นเจ้าเมืองแทน ส่วนหลวงยกกระบัตร (ทองด้วง) นั้น เป็นตำแหน่งกรมการเมืองลำดับที่สาม  ไม่ได้เลือนขึ้นเป็นปลัดเมืองสมุทรสงคราม  แต่ได้เข้าไปถวายตัวรับราชการอยู่ในกรุงธนบุรี  ในปีพ.ศ. ๒๓๑๑ นั้นเอง 
(โปรดติดตามตอนต่อไป)

วันอาทิตย์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2558

พระพุทธยอดฟ้ามหาราช (ตอนที่ ๓)



     เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ทองปาน)  มีบุตรชายสืบตระกูลคนหนึ่งชื่อ ขุนทอง  ต่อมาได้เป็นเจ้าพระยาวรวงศาธิราช(ขุนทอง)  นามบรรดาศักดิ์ว่า วรวงศาธิราช นี้แสดงว่าเป็นเชื้อสายที่พระเจ้าแผ่นดินทรงรับรองกันว่าเป็นราชวงศ์  เหมือนขุนวรวงศาธิราช (พันบุตรศรีเทพ)  ที่พระนางศรีสุดาจันทร์รับเอาเข้าไปเป็นสวามี

     เจ้าพระยาวรวงศาธิราช(ุขุนทอง) มีบุตรชายสืบตระกูลต่อมาชื่อ  ทองคำ  ต่อมาได้เป็น พระยาราชนิกูล  นามบรรดาศักดิ์ว่า ราชนิกูล นี้แสดงว่าเป็นวงศ์ญาติของพระมหากษัตริย์ด้วย

 พระยาราชนิกูล(ทองคำ) ปลัดทูลฉลองในกระทรวงมหาดไทย มีบุตรสืบตระกูล ชื่อ ทองดี ได้เป็น พระอักษรสุนทร *  เสมียนตรากรมมหาดไทย ตำแหน่งนี้เทียบเท่าอธิบดีกรมมหาดไทย  เพราะสมัยนั้นกรมมหาดไทยก็เทียบเท่ากระทรวงมหาดไทย เสมียนตรากรมจึงเท่ากับอธิบดีกรมสมัยนั้น ตำแหน่งนี้มีอำนาจออกตราพระราชสีห์สั่งการไปยังหัวเมืองต่างๆตามพระบรมราชโองการ เป็นที่เกรงใจของเจ้าเมืองทั้งปวง

 พระอักษรสุนทร(ทองดี)  มีบุตรธิดากับภรรยาหลวงชื่อดาวเรือง รวม ๕ คน คือ
๑. หญิงชื่อ สา ต่อมาเป็นสมเด็จฯเจ้าฟ้า กรมพระยาเทพสุดาวดี (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี)   พระพี่นางในพระพุทธยอดฟ้ามหาราช เป็นต้นสกุล เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา, ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา และ นรินทรางกูร ณ อยุธยา ในปัจจุบันนี้

๒. ชาย ชื่อขุนรามณรงค์ ถึงแก่กรรมแต่สมัยกรุงเก่า

๓. หญิงชื่อ แก้ว  ต่อมาเป็นสมเด็จฯเจ้าฟ้า กรมพระศรีสุดารักษ์ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์)  พระพี่นางในพระพุทธยอดฟ้ามหาราช  เป็นต้นวงศ์สกุล  อิศรางกูร ณอยุธยา, มนตรี ณ อยุธยา และ เทพหัสดิน ณ อยุธยาในปัจจุบันนี้

๔. ชายชื่อ ทองด้วง  ต่อมาคือสมเด็จพระพุทธยอดฟ้ามหาราช  นี่แหละคือเหตุผลที่ว่าทำไมรูปเขียนของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ทองปาน) จึงคล้ายกับพระบรมฉายาลักษณ์พระพุทธยอดฟ้าฯ มาก  เพราะท่านเป็นเชื้อสายสืบมา ๔ ชั่วคน

๕. ชายชื่อ บุญมา  ต่อมาเป็นกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พระมหาอุปราชวังหน้าในรัชกาลที ่๑ เป็นต้นสกุล อสุนี ณ อยุธยา, สังขทัต ณ อยุธยา, ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา, นีรสิงห์ ณ อยุธยา

บุตรชายของพระอักษรสุนทร (ทองดี)  คนโตที่ชื่อ ทองด้วงนั้น ได้มาเป็นมหาดเล็กอยู่ในกรมหลวงอุทมพร  แล้วได้เป็นหลวงยกกระบัตร เมืองสมุทรสงคราม  เมื่อ พ.ศ. ๒๓๐๔  ได้สมรสกับนางสาวนาค ธิดาเศรษฐีบางช้าง เมืองสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นญาติสนิทกับพระแม่กลองบุรี (เสม) เจ้าเมืองสมุทรสงครามในสมัยนั้น ดังจะแสดงแผนผังตระกูลให้เห็นดังนี้  



๑. สายพระแม่กลองบุรี (เสม)


พระเอกาทศรถ
|
 เจ้าพลาย
|
|                          ท่านยายถี + ท่านตาพลอย
|
 ท่านยายเมือง
|
 พระแม่กลองบุรี (เสม)




๒.สายนางสาวนาค ภรรยาหลวงยกกระบัตร (ทองด้วง) 

พระเอกาทศรถ
|
เจ้าพลาย
|
                          ท่านยายชี + ท่านตาพลอย
|
                 เศรษฐีทอง + เศรษฐีสั้น 
              |_______________|
                     |                        
                        นางสาวนาค + หลวงยกกระบัตร

         ตามแผนผังสกุลนี้จะเห็นได้ว่า  นางสาวนาค ภรรยาหลวงยกกระบัตร (ทองด้วง) เป็นญาติชั้นเดียวกับพระแม่กลองบุรี (เสม) อยู่ในวงศ์ตระกูลกันมาแต่เดิม

หลวงยกกระบัตร (ทองด้วง) จึงรับราชการอยู่ในเมืองสมุทรสงครามกับพระแม่กลองบุรี (เสม) เจ้าเมืองสมุทรสงครามในฐานะญาติข้างภรรยา  มาต้ังแต่พ.ศ. ๒๓๐๔  สมัยกรุงศรีอยุธยา 

สมัยน้ันเมืองสมุทรสงครามเป็นเมืองจัตวา  ต้องขึ้นแก่เมืองราชบุรี  ซึ่งเป็นเมืองโทอีกต่อหนึ่ง  และหัวเมืองชายทะเลขึ้นแก่กรมท่า  คือเมืองราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สมุทรปราการ ชลบุรี จันทบุรี ระยอง ตราด  เมืองเหล่านี้ขึ้นแก่กรมท่าทั้งหมด  ขณะนั้นพระแม่กลองบุรีได้ไปช่วยราชการเก็บภาษีอากรอยู่ทางหัวเมืองชายทะเลตะวันออก 

ในพ.ศ. ๒๓๑๐ เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตก  พระแม่กลองบุรี(เสม) จึงได้ถวายข้าวเปลือกแก่พระเจ้าตากสิน  มีความชอบ เมื่อพระเจ้าตากสินได้เสวยราชย์แล้วจึงโปรดแต่งต้ังพระแม่กลองบุรี(เสม) เป็นพระยาอมรินทรฤาไชย

ส่วนทางเมืองสมุทรสงครามก็โปรดแต่งตั้งปลัดเมืองเป็นพระแม่กลองบุรีคนต่อไป  พระแม่กลองบุรีคนใหม่ชื่อ ศร  เป็นวงศ์ญาติกับพระแม่กลองบุรีคนเก่า และเป็นวงศ์ญาติกับนางนาค  ภรรยาหลวงยกกระบัตร (ทองด้วง) 


๓.สายพระแม่กลองบุรี(ศร)


พระเอกาทศรถ
|
ท่านตาปะขาว (เจ้าแสน)
|
ทานตาบุญสา
|
ท่านตานพ
|
พระแม่กลองบุรี(ศร)

        ยิ่งกว่าน้ันภรรยาพระแม่กลองบุรี(ศร)  ยังเป็นน้องสาวของนางนาค  ภรรยาหลวงยกกระบัตร(ทองด้วง)อีกด้วย  ดังแผนผังสกุลดังต่อไปนี้ 


๔. สายคุณแก้ว  ภรรยาพระแม่กลองบุรี (สอน)

พระเอกาทศรถ
|
เจ้าพลาย
|
ท่านยายชี
|
ท่านเศรษฐีทอง
|
                                     คุณแก้ว +  พระแม่กลองบุรี (สอน)   

จะเห็นว่า พระแม่กลองบุรี (เสม)  กับพระแม่กลองบุรี (ศร)  คุณนาค ภรรยาหลวงยกกระบัตร (ทองด้วง)  กับคุณแก้ว ภรรยาพระแม่กลองบุรี (ศร)  เป็นญาติวงศ์เดียวกันทั้งสิ้น 


----------------


*(๑)  จากหนังสือ ปฐมวงศ ์ ฉบับพระราชหัตถเลขาถึงเซอร์จอหน์เบาริ่ง  พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๔ : หลวงยกกระบัตร(ทองด้วง)  เป็นบุตรพระอักษรสุนทร (ทองดี) 
(๒) หนังสือปฐมวงศ์ ฉบับประชุมพงศาวดารภาค ๘ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๔ หลวงยกกระบัตร (ทองด้วง)  เป็นบุตรหลวงพินิจอักษร (ทองดี) 
(โปรดติดตามตอนต่อไป) 


















































*(๑)จากหนังสือปฐมวงศ์ฉบับพระราชหัตถเลขาถึงเซอร์จอหน์เบาริ่ง พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๔ : หลวงยกกระบัตร(ทองด้วง) เป็นบุตรพระอักษรสุนทร(ทองดี)
(๒) หนังสือปฐมวงศ์ ฉบับประชุมพงศาวดารภาค ๘ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๔: หลวงยกกระบัตร (ทองด้วง) เป็นบุตรหลวงพินิจอักษร(ทองดี)

วันจันทร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2558

พระพุทธยอดฟ้ามหาราช (ตอนที่ ๒)




         แรกเริ่มเดิมที่สมิงพระรามเชื้อชาติมอญ  พระสหายของพระนเรศวรมหาราช  ได้อพยพติดตามพระนเรศวรมหาราช เข้ามารับราชการอยู่ในกรุงศรีอยุธยาในตอนปลายรัชกาลของพระมหาธรรมราชา  ประมาณพ.ศ. ๒๑๒๐  สมิงพระรามนี้ต่อมาคือ พระยาเกียรติพระราม  พระยาเกียรติพระรามผู้นี้  พระราชพงศาวดารมักจะเขียนว่า "พระยาเกียรติพระยาราม" ทำให้เข้าใจผิดกันมาตลอดว่าเป็นคนสองคน  พระยาเกียรติคนหนึ่ง  พระยารามคนหนึ่ง   แท้ที่จริงเป็นคนคนเดียวกัน  บรรดาศักดิ์ว่า "พระยาเกียรติพระราม"  นั้น เป็นยศศักดิ์โบราณ  ถ้าจะเรียกให้ถูกต้องก็ต้องเรียกว่า "พระยาเกียรติพระราม" แปลว่า ่"พระยาผู้มีเกียรติดั่งพระราม"  หรือ  "พระรามผู้มีเกียรติ"  เหมือนที่เราเรียกวรรรคดีเรื่องพระรามปราบยักษ์ว่า "รามเกียรติ์" ซึ่งแปลว่า "เกียรติแห่งพระราม"  เป็นราชทินนามบรรดาศักดิ์พิเศษที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชพระราชทานให้แก่นายทหารมอญผู้จงรักภักดีอย่างมอบกายถวายชีวิตผู้นี้   และนามบรรดาศักดิ์นี้เป็นนามบรรดาศักดิ์ของไทยไม่ใช่นามบรรดาศักดิ์ของทหารมอญ
        
        เมื่อท่านมารับราชการเป็นพระยาพานทองของไทยแล้วท่านได้รับพระราชทานนามบรรดาศักดิ์ว่า ่"พระยาเกียรติพระราม"  แล้วก็ไม่มีผู้ใดได้รับพระราชทานนามนี้อีกเลย   ตัวอย่างในรัชกาลที่ ๕  นี้ก็มีอยู่  คือ พระปิยมหาราชทรงมีข้าหลวงเดิมอยู่คนหนึ่งชื่อนายเปล่ง  เป็นที่โปรดปราน  วันหนึ่งจึงทรงถามว่า "ตาเปล่ง  แกอยากเป็นอะไร"  นายเปล่งตอบทันทีว่า  "อยากเป็นพระยา พระพุทธเจ้าข้า"  พระปิยมหาราชก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น "ขุนหลวงพระยาไกรสีห์"  คือ ท่านผู้นี้ยังไม่ทันเป็นขุนเลยจะขอเป็นพระยา  แต่เมื่อตรัสถามว่าอยากได้เป็นอะไร  เขาอยากเป็นพระยาก็ทรงตั้งให้เขาเป็นทันตาเห็น  ก็เลยไม่รู้ว่าท่านผู้นี้เป็นขุนหรือพระยากันแน่    แต่คำพระราชทานยศอย่างนี้ถือกันว่าเป็นยศพิเศษ ถ้าจะว่าไปแล้วก็เทียบเท่า "ขุนหลวงพะงั่ว" "ขุนหลวงดอกมะเดื่อ" "ขุนหลวงพระยาตาก"  ทีเดียว  ก็เหมือนนามบรรดาศักดิ์ "พระยาเกียรติพระราม" นั่นแหละ เป็นบรรดาศักดิ์พิเศษที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชพระราชทานให้แก่นายทหารมอญคนนี้  ผู้ซึ่งมีความจงรักภักดียอมมอบกายถวายชีวิตติดตามพระองค์เข้ามารับราชการอยู่ด้วย  พระยาเกียรติพระรามนี้รู้จักคุ้นเคยและจงรักภักดีต่อพระนเรศวรมหาราชมาตั้งแต่พระองค์อยู่ในประเทศพม่า  เมื่อได้โอกาสจึงติดตามเข้ามารับราชการเป็นนายทหารกล้าตายของพระนเรศวรมหาราช  เข้าใจว่าจะมีจิตใจเด็ดเดี่ยวกล้าหาญชาญชัยพอๆกับหรือแบบเดียวกันกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  คนที่มีอุปนิสัยจิตใจคล้ายคลึงกันจึงจะรักใคร่นับถือกันมาก  

     เมื่อได้ติดตามเข้ามารับราชการเมืองไทยแล้ว  ก็ได้รับพระราชทานภรรยาคนหนึ่งคือ หม่อมเจ้าหญิงอำไพ  พระธิดาพระมหาธรรมราชา คือเป็นพระพี่นางของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั่นเอง  การที่พระราชทานเจ้าหญิงให้เป็นภรรยาเช่นนี้ก็แสดงว่าโปรดเกล้าฯรับเข้ามาเป็นเขยในราชวงศ์  หรือรับเอาเข้ามาเป็นวงศ์ญาตินั่นเอง  เรียกว่า พระยาเกียรติพระรามผู้นี้ได้เข้ามาเป็นพระญาติวงศ์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชแล้วในตอนนี้ 
     พระยาเกียรติพระรามกับหม่อมเจ้าหญิงอำไพ มีบุตรเป็นชายสองคน ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในเวลาต่อมา  คนพี่ชื่อเหล็ก  ได้เป็นเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ขุนเหล็ก)  คนน้องชื่อทองปาน ได้เป็น เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ทองปาน)  แทนพี่ชายในเวลาต่อมา  เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก)  เป็นทหารชั้นแม่ทัพ  ไปรบเมืองทวายแล้วไปตายในราชการสงคราม  น้องชายที่ชื่อทองปาน ก็ได้รับช่วงตำแหน่งต่อมาเป็นเจ้าพระยาโกษาธิบดี(ทองปาน) ตำแหน่งนี้ในยามปกติก็ว่ากรมเจ้าท่า  บางทีก็ว่ากรมพระคลังมหาสมบัติในยามศึกสงครามก็เป็นแม่ทัพด้วย  แสดงว่าเป็นบุคคลสำคัญมากที่สุดที่คุมขุมกำลังท้้งการคลังและการทหาร แสดงถึงว่าเป็นเชื้อสายในราชวงศ์และมีความสามารถด้วย จึงได้คุมตำแหน่งสำคัญนี้ 

     เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ทองปาน) นั้นท่านเคยเป็นเอกอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มไปเจริญทางพระราชไมตรีกับประเทศฝรั่งเศส  ท่านเป็นราชทูตที่มีชื่อเสียงเกียรติยศมาก  ทางฝรั่งเศสก็ยกย่องถึงแก่ได้ให้จิตรกรเขียนรูปท่านไว้  จึงเป็นหลักฐานอันสำคัญมากว่าท่านมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร  รูปภาพเขียนของท่านนี้ ต่อมานายสุกิจ นิมมานเหมินทร์ ไปได้มาจากหอสมุดในประเทศฝรั่งเศส  ได้นำเอามาพิมพ์เผยแแพร่  เป็นการน่าประหลาดมากที่รูปเขียนของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ทองปาน) นี้ละม้ายแม้นกับพระบรมฉายาลักษณ์ของพระพุทธยอดฟ้าฯ มาก  เดี๋ยวท่านก็จะทราบเองว่าทำไมจึงคล้ายกัน  
(โปรดติดตามตอนต่อไป) 

วันอังคารที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2558

พระพุทธยอดฟ้ามหาราช( ตอนที่ ๑ )






พระพุทธยอดฟ้ามหาราช

กษัตริย์นักรบ นักรัก นักกวี นักการทูต


                               ๐เรื่องพระพุทธยอดฟ้ามหาราช
                               ประวัติศาสตร์เบ็ดเตล็ดเป็นเกร็ดเล่า
                               อันคนไทยควรรู้อย่าดูเบา
                              จะได้เข้าใจเรื่องเบื้องโบราณ
                               กษัตริย์วงศ์จักรีบัดนี้เล่า
                               คือวงศ์พระร่วงเจ้าที่เล่าขาน
                               เป็นนักรบนักกวีมีตำนาน
                               เป็นนักการทูตฉลาดสามารถนัก
                               สืบมาแต่เจ้าพระยาโกษาปาน
                               เป็นนักการทูตเลิศประเสริฐศักดิ์
                               เป็นแม่ทัพกาจกล้าสามิภักดิ์
                               เป็นนักรักนักสวาทนาถอนงค์  ฯ
          
        พระพุทธยอดฟ้ามหาราช  ทรงเป็นมหาบุรษของชาติไทยผู้ยิ่งใหญ่องค์หนึ่งซึ่งบัดนี้ก็เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าสมควรเป็นมหาราช  จึงได้พร้อมใจกันถวายพระนามว่า "พระพุทธยอดฟ้ามหาราช" ตั้งแต่ปีฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี  ทางราชการดูเหมือนจะเรียกพระนามว่า "พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช"   ตามข้อเสนอของพระเทพวิสุทธิเมธี (ปัญญานันทภิกขุ)  แต่ข้าพเจ้าเห็นว่า "พระพุทธยอดฟ้ามหาราช"  มีความไพเราทางภาษาศาสตร์และสั้นกระทัดรัดเรียกง่ายดีกว่า  จึงขอให้คำนี้เหมือนกับที่เราเรียกพระมหาราชองค์อื่่นๆ สั้นๆ ว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราช  พระนเรศวรมหาราช พระนารายณ์มหาราช พระเจ้าตากสินมหาราช พระปิยมหาราช เป็นต้น  
        
        คนมักมองกันว่าพระองค์ท่านคือทหารเอกของพระเจ้าตากสินมหาราชเท่านั้น  แต่เมื่อศึกษาประวัติศาสตร์กันอย่างถี่ถ้วนแล้ว  ก็จะเห็นว่าพระองค์ท่านคือพระมหาราชพระองค์หนึ่งของชาติไทย ถ้าหากว่าไม่มีพระองค์รับช่วงงานสร้างชาติต่อมาแล้ว  บ้านเมืองของเราคงจะไม่เป็นอยู่อย่างปัจจุบันนี้  คงจะเป็นเหมือนพม่่า เขมร ลาว ญวนนั่นแหละ

         ใครคงจะไม่ปฎิเสธว่าพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านคือพื้นฐานของสยามประเทศในเวลาต่อมา   แม้แผ่นดินสยามในรัชสมัยของพระองค์ก็กว้างใหญ่ไพศาลกว่าทุกวันนี้อีกเกือบเท่าตัว   ผู้คนพลเมืองในประเทศนี้ที่มีหลายเชื้อชาติทั้งเขมร ลาว มอญ รวมท้ังชาวไทยอิสลามที่มาอยู่ในประเทศไทยในเวลานี้นั้น  ล้วนแต่ได้อพยพติดตามกองทัพไทยมาในแผ่นดินพระพุทธยอดฟ้าโดยมาก  ถ้าหากใครจะเรียกว่าเป็นเชลยศึกถูกกวาดต้อนมา  ก็อยากจะย้อนถามว่ามีใครสักคนไหมอยากจะกลับไปอยู่ถิ่นฐานบ้านเดิม  และถ้ากลับไปอยู่แล้วจะมีความสุขกว่าที่อยู่ในแผ่นดินสยามนี้หรือไม่  เขาผู้นั้นก็คงจะตอบตัวเองได้ดีกว่าใครๆ  ก็แล้วถ้าเช่นนั้นจะไม่ขอบพระเดชพระคุณพระพุทธยอดฟ้ามหาราชบ้างเลยหรือ 
        
        บรรดาประชาชนชาวสยามทุกเชื้อชาติที่อยู่อาศัยทำมาหากินบนแผ่นดินนี้แม้ชนต่างชาติเช่นชาวจีนเขาก็ตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณข้อนี้อยู่  ที่ได้มาอาศัยพึ่งพระบรมโพธิสมภารอยู่เย็นเป็นสุข เขาจึงกระทำการตอบแทนคุณแผ่นดินนี้อยู่ตลอดมาไม่ขาดสาย  เมื่อถึงรุ่นลูกหลานเขาก็กลายเป็นคนไทยทำคุณประโยชน์ให้แก่แผ่นดินนี้นับตระกูลไม่ถ้วน  ข้อนี้ก็ควรจะยกให้เป็นพระบรมโพธิสมภารของพระพุทธยอดฟ้ามหาราชที่ปกป้องมาทุกวันนี้ 

        พระพุทธยอดฟ้ามหาราชนั้น จะว่าโดยทางวงศ์ตระกูลแล้วก็ทรงสืบสายโลหิตมาจากตระกูลขุนนางเจ้านายมาโดยไม่ขาดสายเป็นเวลากว่า ๕ ชั่วคนแล้ว  เป็นตระกูลที่สืบสายโลหิตมาอย่างประหลาดอัศจรรย์  คือเป็นตระกูลที่มีปรีชาสามารถ เป็นนักรบ  นักกวี นักการทูต  และเป็นตระกูลทีทรงศึลทางธรรมถึงขนาดเป็นนักบวชในทางพุทธศาสนาด้วย เพื่อยืนยันในข้อความที่กล่าวนี้ว่ามิได้ยกย่องจนเกินความสัตย์ความจริง  ข้าพเจ้าจึงขอลำดับความให้เห็นแต่โดยย่อดังต่อไปนี้  และขอออกตัวไว้ก่อนว่า  บทความนี้ไม่ได้ตั้งใจจะให้เป็นวิชาการหรือตำรับตำราอะไร  เป็นการเล่าเรื่องเก่าๆให้ฟังเท่านั้น  

                                                               (โปรดติตตามตอนต่อไป) 
                

วันจันทร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2558

พระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ ๑




พระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ ๑



พระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ ๑  เป็นรูปปทุมอุณาโลม มีอักขร"อุ"  อยู่กลาง  ล้อมรอบด้วยกลีบบัว  อันเป็นพฤษชาติที่เป็นสิริมงคลในพระพุทธศาสนา  ตราอุณาโลมมีรูปร่างคล้ายสังข์เวียนขวา อยู่ในกรอบลายกนก  เริ่มใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อพ.ศ. ๒๓๒๘

วันอาทิตย์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2558

พระพุทธยอดฟ้ามหาราช กษัตริย์นักรบ นักรัก นักกวี นักการทูต

                                                    



          บทความ  "พระพุทธยอดฟ้ามหาราช กษัตริย์นักรบ นักรัก นักกวี นักการทูต"  โดยนายเทพ สุนทรศารทูล  พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ"มานวสาร"  วารสารรายเดือนของชุมนุมนักเรียนเก่าโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ของรัชกาลที่ ๖  ด้วยความจงรักภักดีในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและราชวงศ์จักรี
        บทความนี้ได้รวบรวม พระราชประวัติแต่แรกที่สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์พระร่วงในสมัยสุโขทัย   และพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้ามหาราช 
        พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระมหากษัตริย์ผู้ก่อตั้งราชวงศ์จักรี   ผู้ทรงไว้ซึ่งทศพิธราชธรรม สมดังพระปณิธานของพระองค์ที่ว่า

                                      "ตั้งใจจะอปถัมภก
                                        ยอยกพระพุทธศาสนา
                                        ป้องกันขอบขันฑสีมา
                                        รักษาประชาชนและมนตรี"  







(บทความนี้ได้นำมาพิมพ์และมอบให้หอสมุดแห่งชาติ เพื่อประโยชน์ทางประวัติศาสตร์ต่อไป)